Posted on

เครื่องบนประดับอาคารเสนาสนะ

อาคารสำคัญต่างๆ ภายในวัด อาทิ วิหาร อุโบสถ หอธรรม ส่วนหนึ่งสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอาณาจักรล้านนาในยุคทอง หรือบางแห่งอาจเก่าถึงสมัยอาณาจักรหริภุญไชย ก็ล้วนแต่ได้รับการบูรณะภายหลังอีกหลายครั้ง เนื่องจากสร้างด้วยไม้เป็นวัสดุหลักจึงชำรุดทรุดโทรมไปเร็วกว่าอาคารก่ออิฐถือปูนที่สร้างใหม่ในสมัยหลัง อาคารสำคัญในวัดตามแบบอย่างพื้นเมืองล้านนาในยุคทองมีการประดับตกแต่งเป็นพิเศษในส่วนต่างๆ ของหลังคา และพื้นผิวขององค์ประกอบหลักภายในอาคาร เครื่องประดับหลังคาอาคารเสนาสนะ ช่วงยุคทองของอาณาจักรล้านนา หลังคาอาคารสำคัญในวัดประดับตกแต่งด้วยเครื่องบนตามแนวสันหลังคา เครื่องลำยอง แผงแล ปากแล ประดับปลายปั้นลมหลังคา หน้าบัน ที่มีการตกแต่งลวดลาย รวมถึงทวยนาคตันที่คํ้ายันชายคาตลอดแนวอาคารทั้งสองข้าง เครื่องประดับเหล่านี้ส่วนใหญ่ใช้ไม้แกะสลักลวดลายอย่างสวยงาม เครื่องประดับหลังคาอาคารเสนาสนะ ช่วงหลังยุคทองของอาณาจักรล้านนา เครื่องประดับตกแต่งหลังคาของอาคารเสนาสนะที่สืบทอดแบบอย่างพื้นเมืองล้านนาต่อมา ได้รับอิทธิพลจากทั้งศิลปะแหล่งต่างๆ อาทิ รัตนโกสินทร์ พม่า มอญ ไทยใหญ่ จีน หรือแม้กระทั่งตะวันตก เข้ามาผสมสานในรายละเอียด โดยเฉพาะลวดลายและเทคนิค รวมทั้งส่วนโก่งคิ้วใต้หน้าบัน ที่ตกแต่งให้โดดเด่นมากขึ้นด้วยรูปแบบและลวดลายที่หลากหลาย เครื่องบนประดับสันหลังคา ปราสาทเฟื้อง ส่วนประดับกลางสันหลังคา วิหาร และอุโบสถ เพื่อจำลองเขาพระสุเมรุตามคติจักรวาล มีรูปแบบและขนาดสัดส่วนต่างๆ กันตามแต่ฝีมือช่าง บางแห่งอาจมีรูปหงส์เต็มตัวขนาดเล็กเรียงกันตลอดแนวสันหลังคาด้วย ช่อฟ้า ส่วนประดับปลายสันหลังคา และเป็นส่วนยอดของเครื่องลำยองประดับปั้นลมหน้าจั่ว ช่อฟ้าแบบล้านนาดั้งเดิมมีลักษณะตั้งตรง โดยมีลวดลายไม้ฉลุในกรอบสามเหลี่ยมประกอบอยู่ให้มั่นคงกับสันหลังคาคล้ายปราสาทเฟื้องครึ่งซีก แต่หากไม่มีปราสาทเฟื้องและช่อฟ้ารูปแบบอื่น เช่น […]

Posted on

ซุ้มโขงและทวารบาล

ในช่วงยุคทองของอาณาจักรล้านนาเป็นต้นมา นอกจากเจดีย์แล้ว มีองค์ประกอบเน้นทางเข้าหลักเข้าสู่เขตศาสนสถาน และอาคารเสนาสนะ เป็นอีกองค์ประกอบที่สำคัญที่สร้างด้วยวัสดุก่ออิฐถือปูน ได้แก่ ซุ้มโขง ซึ่งนอกจากประดับเจดีย์แล้ว ยังสร้างเป็นซุ้มประตูทางเข้าเขตพุทธาวาส กรอบประตูวิหาร และประดับกู่มณฑป ภายในวิหารด้วย โดยพัฒนามาใช้ลายพรรณพฤกษาแบบฉลุโปร่ง และรูปสัตว์หิมพานต์ รวมถึงลาย “นาคเกี้ยว” ลักษณะเป็นรูปนาค ๒ ตัว มีหางเกี่ยวกันเป็นกรอบซุ้ม ภายในช่องโค้งเหนือทางเข้าอาจประดับด้วยงานลายคำ เช่น ธรรมจักรและปูรณฆฏะ นอกจากนี้ มีการเน้นทางเข้าสำคัญด้วยประติมากรรมลอยตัวปูนปั้นรูปสัตว์ที่มีความหมายตามแนวความคิดจักรวาลคติ หรือการเฝ้ารักษาศาสนสถาน เช่น รูปสิงห์คู่ขนาบสองข้างทางเข้าเขตพุทธาวาส ตั้งอยู่ด้านหน้าซุ้มโขงอีกชั้นหนึ่ง และบันไดนาคที่ขึ้นสู่สถาปัตยกรรมสำคัญ เช่น เจดีย์ วิหาร อุโบสถ หอธรรม ที่นอกจากประดับรูปนาคหรือมกรคายนาคแล้ว บางแห่งอาจประดับด้วยรูปมอม และมีการประดับด้วยรูปเทวดาปูนปั้นหรือไม้แกะสลักในส่วนต่างๆ เช่น เป็นปากแลตั้งระหว่างเครื่องลำยองปิดปั้นลมต่างระดับ ประตูบานคู่ด้านหน้าวิหาร บริเวณเสาหรือมุมผนังอาคารด้านนอก หรือบนโครงหลังคาในระดับไม้คอสอง ในช่วงหลังยุคทองของอาณาจักรล้านนา มีการทำซุ้มโขง สิงห์คู่ บันไดนาค และรูปเทวดา โดยมีรูปทรง สัดส่วนการประดับตกแต่ง ที่พัฒนาเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย โดยเฉพาะบันไดนาค ซึ่งเลื้อยลำตัวลงมาขดเป็นวงอยู่บนพื้นด้านหน้าบันไดสองข้าง หรือมีส่วนหางปรากฏอยู่ทางบันไดด้านหลัง ที่มา: […]

Posted on

เครื่องประดับสถาปัตยกรรม ตอน ๒ “ช่วงยุคทอง – หลังยุคทองของอาณาจักรล้านนา”

ช่วงยุคทองของอาณาจักรล้านนา เจดีย์ทรงปราสาท ลวดลายประดับองค์เจดีย์ส่วนใหญ่ยังคงอยู่ที่กรอบซุ้มจระนำหรือซุ้มโขงที่รับบันไดบนชั้นฐานประทักษิณ ประติมากรรมนูนต่ำ มีการพัฒนาลวดลายจนเป็นแบบอย่างพื้นเมืองล้านนา เส้นสายและกรอบโครงเป็นรูปทรงอิสระและเลียนแบบธรรมชาติมากขึ้น เช่น “ลายพรรณพฤกษา” (ลายเครือเถา ลายเครือล้านนา) เป็นรูปดอกไม้ใบไม้ต่างๆ รวมถึงลายดอกไม้ร่วงที่ได้รับอิทธิพลจากลังกาใช้ประดับเพื่อลดที่ว่างของพื้นหลัง “ลายเมฆไหล” ได้รับอิทธิพลศิลปะจีน และ “ลายกระหนกล้านนา” ที่ขมวดหัวจนเกือบเป็นวงกลม ลวดลายในงานประติมากรรมนูนตํ่ามีลักษณะคล้ายงานฉลุโปร่ง ขอบลายคมชัด ดูเหมือนแยกส่วนจากพื้นเรียบด้านหลัง ประติมากรรมนูนสูง นอกจากพระพุทธรูป ยังมีรูปเทวดา และรูปสัตว์หิมพานต์ ตามแนวความคิดจักรวาลคติ เช่น นาค สิงห์ หงส์ ครุฑ กินนร กินนรี รวมไปถึงมกรและมอม เจดีย์บางองค์ประดับรูปปูนปั้นช้าง ล้อมรอบส่วนฐานประทักษิณ ตามอิทธิพลศิลปะลังกา เจดีย์ทรงระฆัง มีบัวซ้อนชั้นรับองค์ระฆังประดับลายกลีบบัว คั่นด้วยชั้นท้องไม้เจาะช่องสี่เหลี่ยมและรูปเทวดา การตกแต่งพื้นผิว ในช่วงยุคทองของอาณาจักรล้านนา เจดีย์บางองค์ตกแต่งพื้นผิวในบางส่วนหรือรอบองค์เจดีย์ โดยการ “หุ้มทองจังโก” ซึ่งทำด้วยทองสำริด ตีแผ่นบางสำหรับบุผิว และ “ดุนลาย” บางองค์ประดับลายเป็นแถบโอบรอบในส่วนกลางองค์ระฆังเรียกว่า “รัดอก” และในส่วนปลายองค์ระฆังเรียกว่า “บัวคอเสื้อ” ตามอิทธิพลศิลปะพุกาม หรือมีการตกแต่งพื้นผิวแบบ “ลงรักปิดทอง” […]

Posted on

เครื่องประดับสถาปัตยกรรม ตอน ๑ “ช่วงก่อนยุคทองของอาณาจักรล้านนา”

ช่วงก่อนยุคทองของอาณาจักรล้านนา ประกอบด้วย ประติมากรรมนูนตํ่าและนูนสูง โดยเฉพาะเจดีย์ทรงปราสาท ที่เน้นการประดับลวดลายส่วนเรือนธาตุ เช่น แนวเส้นลวดบัวประดับเสาและกรอบซุ้มจระนำ ประติมากรรมนูนต่ำ มีลักษณะแบบลายทึบ ผิวหน้าของตัวลายเรียบเสมอกัน ทำให้ดูเป็นเนื้อเดียวกับพื้นเรียบด้านหลัง ลวดลายพื้นฐานเป็นลวดลายที่เชื่อมโยงกับศิลปะทวารวดีทางตอนใต้และศิลปะพุกามทางตะวันตก รวมทั้งศิลปะคุปตะในอินเดีย ประกอบด้วย ลายแม่แบบ ได้แก่ ลายประดิษฐ์ของดอกไม้ ใบไม้ ในกรอบโครงรูปเรขาคณิต เช่น วงกลม สี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม วงรี เส้นขนาน หรือมีการจัดเรียงแถวอย่างเป็นระเบียบและไม่ซับซ้อน ประติมากรรมนูนสูง มักใช้สำหรับรูปเคารพ ได้แก่ พระพุทธรูป รูปเทวดา นอกจากนี้มีรูปสัตว์ เช่น มกร หน้ากาล และสัตว์หิมพานต์ เช่น สิงห์ ครุฑ คชสีห์ หงส์ ซุ้มจระนำ กรอบโค้งหยักบนชั้นเรือนธาตุของเจดีย์ทรงปราสาทในสมัยก่อนยุคทอง หน้ากาล (เกียรติมุข กีรติมุข ราหู สิงหมุข) รูปหน้าอมนุษย์ มีศีรษะ ไม่มีริมฝีปากล่าง ไม่มีลำตัว ใช้ประดับเหนือซุ้มหรือทางเข้า เป็นสัญลักษณ์ตามความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ ในการขจัดสิ่งชั่วร้ายไม่ให้เข้าไปในอาคาร […]

Posted on

ฝาตั้ง ฝาตาก ฝาแป้นหลั่น ฝาไม้บั่ว

ฝาผนัง มีลักษณะเป็นแผงประกอบสำเร็จ ก่อนติดตั้งทับด้านนอกแนวเสา ยาวต่อเนื่องไปตลอดแนวอาคาร โดยวางบนหัวของแวงและตง ที่ยื่นออกมารับแต่ละด้าน ประกอบด้วยกรอบไม้โดยรอบที่เซาะร่องเป็นรางสำหรับวางแผ่น “ลูกกรุ” ซึ่งมีทั้งวัสดุ แผ่นกระดานไม้จริง เรียกว่า “ฝาไม้แป้น” และไม้ไผ่ เรียกว่า “ฝาไม้บั่ว” “ฝาไม้แป้น” มีรูปแบบต่างๆ เช่น “ฝาตาผ้า” แบ่งกรอบซอยภายในตามแบบแผนมีกรอบตามแนวตั้งเป็นหลักและกรอบแนวนอนภายในอีก ๒ แนวใกล้ขอบบน – ล่าง แบ่งช่องลูกกรุตามตั้งออกเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาวตามตั้งในช่วงกลาง และสี่เหลี่ยมเล็กในแถวบน – ล่าง เซาะร่องกรอบไม้เป็นรางเพื่อบรรจุลูกกรุเข้าลิ้นแยกในแต่ละช่อง และติด “เล็บ” หรือคิ้วไม้ประกับภายในช่องกรอบย่อยโดยรอบอีกชั้นหนึ่ง ใช้กับเรือนคหบดี เช่น เรือนกาแล แบบที่ ๒ เรียกว่า “ฝาตั้ง” วางเรียงลูกกรุตามตั้ง รอยต่อชน แบบที่ ๓ เรียกว่า “ฝาแป้นหลั่น” วางเรียงลูกกรุตามตั้ง รอยต่อแบบบังใบ “ฝาตั้ง” และ “ฝาแป้นหลั่น” นี้ไม่มีแบบแผนตายตัวในการจัดแนวไม้คิ้วทับแนว เช่น ไม้คิ้วทับแนวตามระยะช่วงเสา ไม้คิ้วทับรอยต่อลูกกรุตามตั้งทุกแนว หรือจัดไม้คิ้วตามตั้ง […]

Posted on

เสาป๊อก แหนบ ขั้นไดและเสาแหล่งหมา

องค์ประกอบสำคัญที่มีลักษณะพิเศษเป็นเอกลักษณ์ของเรือนพักอาศัยพื้นถิ่นแบบล้านนา ยกตัวอย่างเช่น เสาป๊อก ในโครงสร้างของเรือนไม้จริงมีการใช้ “เสาป๊อก” (เสาสั้น) ทั้งชั้นใต้ถุนและชั้นโครงหลังคา เป็นการเพิ่มจุดรับน้ำหนักพื้นหรือโครงหลังคา โดยทำให้สามารถเว้นระยะระหว่างช่วงเสาในชั้นพื้นเรือนได้กว้างขึ้น โดยไม่ต้องมีเสาลอยเกะกะในบริเวณพื้นที่โล่ง นอกจากนี้ การแยกส่วนของไม้พื้นแต่ละห้องที่มีระดับเดียวกันเพื่อแยกการรับน้ำหนักจร จะใช้ไม้พื้นที่มีความหนาเท่ากับความหนาตง บวกกับความหนาไม้พื้นตามปกติ เรียกว่า “ไม้แป้นท่อง” วางตามแนวเสา แหนบ แหนบ คือ แผงกรุปิดในภายในกรอบโครงหลังคาจั่ว สำหรับบ้านเรือน มีการทำแต่ละช่องระหว่างโครงไม้ ที่เรียกว่า “แหนบ” โดยทั่วไปแหนบด้านจั่วหัวท้ายเรียกว่า “แหนบกั้นก้อง” มักจะกรุด้วย “ลูกกรุ” คือไม้ทึบแผ่นบาง ส่วนแหนบที่อยู่ภายในอาคารที่กั้นระหว่างเติ๋นกับห้องนอน เรียกว่า “แหนบเติ๋น” มักจะใส่ไม้กลึงเว้นระยะตามตั้ง ที่เรียกว่า “ลูกแก้ว” เพื่อระบายอากาศ และพาดไม้ “ขัวย่าน” ซึ่งเป็นไม้ไผ่คู่วางพาดขนาน สำหรับช่างขึ้นไปซ่อมดูแลโครงหลังคา ในชั้นโครงหลังคา ก็อาจเสริมกำลังโครงสร้าง กรณีที่ไม่ต้องการให้มีเสาจากพื้นขึ้นมาตั้งรับกลางช่วงด้วยชิ้นส่วนโครงค้ำเฉพาะตามตั้ง – ตามนอน ด้วย “เสาป๊อก” ระหว่างช่วงเสาด้านยาวและด้านสกัด ค้ำระหว่างไม้ขื่อหรืออะเสตามนอน ๒ ระดับ แต่อาคารจะไม่มีการใช้โครงค้ำในแนวทแยงเลย ยกเว้นบางหลังที่มี “ยางค้ำ” […]

Posted on

เรือนเครื่องสับและเฮือนไม้บั่ว

เรือนเครื่องสับ เรือนไม้ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ใช้ไม้สัก และไม้เนื้อแข็ง เช่น เต็ง รัง ตะเคียน ไม้แดง เป็นวัสดุหลัก มีการ “ปรุง” (ตัดและขัดเกลาผิว) หน้าตัดและความยาวไม้ ให้ได้ขนาด ประกอบแต่ละส่วนเข้าด้วยกันด้วยวิธีการบากเจาะ เพื่อประกบหรือเข้าสลักเดือย เป็นต้น ในล้านนามี ๒ แบบ คือ “เฮือนไม้จิ๋ง” และ “เฮือนกาแล” รูปทรงหลังคาโดยทั่วไปเป็นหลังคาจั่วที่มีมุมเอียงไม่สูงชันนัก และระนาบหลังคาเรียบไม่แอ่นโค้ง ยื่นชายคายาวออกไปคลุมอาคารทางด้านยาว และมี “แง้บหน้า” (ไขราปีกนก) คือ กันสาดด้านสกัดอยู่ใต้หน้าจั่ว การจัดวางผังเรือน มักจะมีอาคาร ๒ หลัง วางขนานกันตามยาว ทำให้ด้านหน้าเรือนมองเห็นหลังคาจั่วแฝด ที่มีแง้บหน้าแล่นยาวต่อเนื่องกันตลอดแนวทั้งสองหลังไปบรรจบเข้ามุมกับชายคาด้านยาว เรือนกาแลแตกต่างจากเรือนไม้จริงที่สังเกตได้ง่าย คือ มีไม้กาแลติดอยู่ที่ยอดปั้นลมหลังคา การจัดวางเสาของตัวเรือนในระบบตาราง สัมพันธ์กับแนวหลังคา เป็นด้านยาวและด้านสกัด โดยทั่วไปด้านยาวภายใต้หลังคา แบ่งเป็น ๕ ช่วงเสา และจัดวางเรือนขนานกันตามยาว แต่อาจมีขนาดเรือน หลังคา และระยะบางช่วงเสาไม่เท่ากัน เฮือนไม้บั่ว […]

Posted on

หน้าบัน

หน้าบัน คือ แผงกรุภายในกรอบโครงหลังคาจั่วสำหรับอาคารชั้นสูง ที่มีการประดับตกแต่งลวดลายสวยงาม มี ๓ รูปแบบหลัก ที่พัฒนาไปตามยุคสมัย ได้แก่ หน้าบันแบบดั้งเดิมและหน้าบันในยุคหลัง ราวช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๕ เป็นต้นมาอีก ๒ รูปแบบ คือ หน้าบันในกรอบหน้าจั่ว และหน้าบันมุขหลังคาจั่วยื่นคลุมบันได หน้าบันแบบดั้งเดิม แยกเป็น ๓ ส่วนออกจากกันชัดเจนด้วยแนวเสา คือ ช่วงกลางระหว่างแนวเสาคู่กลาง ที่แบ่งช่องย่อยภายในรูปสามเหลี่ยมหน้าจั่วตามโครงสร้างม้าต่างไหม และช่วงริม ๒ ข้างระหว่างเสาคู่นอก ที่อยู่ใต้ระนาบชายคาลดระดับ โดยแต่ละช่วงมีแผงล่างที่มีแนวขอบโค้งลงเรียกว่า “โก่งคิ้ว” หน้าบันสามเหลี่ยมในกรอบหน้าจั่ว มีการทำแผงลวดลายหน้าบันปิดทับหน้าบันทั้ง ๓ ส่วน โดยไม่แบ่งช่องภายในรูปสามเหลี่ยมหน้าจั่วตามโครงสร้างม้าต่างไหม หน้าบันมุขหลังคายื่นคลุมบันได ได้รับอิทธิพลจากรูปแบบวิหารแบบพม่าที่มีการยื่นมุขหลังคาจั่วในแนวเสาคู่กลางออกมาคลุมบันไดนาคด้านหน้าวิหาร จึงมีขนาดเล็กเพียงช่วงเสาเดียวและมี “โก่งคิ้ว” ต่อเนื่องตลอดแนว ลวดลายหน้าบันมีทั้งแบบดั้งเดิม ที่แบ่งช่องย่อยตามโครงสร้างม้าต่างไหม และแบบสามเหลี่ยมในกรอบหน้าจั่ว ที่มา: หนังสือสถาปัตยกรรมล้านนา ภาพถ่าย: รุ่งกิจ เจริญวัฒน์ / วีระพล สิงห์น้อย