Posted on

อิทธิพลจากต่างประเทศ ตอน ๔ เรือนคหบดี

อิทธิพลพม่า ช่วงที่มีการทำสัมปทานป่าไม้ ต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๕ เช่น บ้านเสานัก จังหวัดลำปาง และเรือนโบราณ ๑๔๐ ปี จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีรูปแบบองค์ประกอบบางส่วนต่างออกไปจากเรือนล้านนาและเรือนสรไน อิทธิพลตะวันตก อิทธิพลทางสถาปัตยกรรมจากภายนอก ถูกนำมาผสมผสานในองค์ประกอบต่างๆ ของสถาปัตยกรรมบ้านเรือนที่อยู่อาศัยในล้านนา ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ มาจนถึงรัชกาลที่ ๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. ๒๓๙๔ – ๒๔๖๘) บ้านเมืองมีความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ และเริ่มมีความนิยมสถาปัตยกรรมตามแบบอย่างตะวันตก โดยเฉพาะรูปแบบวิคตอเรียน ที่มีการนำมาประยุกต์ใช้กับเรือนคหบดีและชนชั้นปกครอง ทำให้รูปแบบสถาปัตยกรรมเปลี่ยนไป เช่นเดียวกับคุ้มเจ้า ทั้งรูปแบบอาคารตึกหรือครึ่งตึกครึ่งไม้ มีการวางผังแบบตะวันตก และวิธีการก่อสร้างโดยการใช้ระบบผนังก่ออิฐรับนํ้าหนัก การทำช่องโค้ง มีการประยุกต์องค์ประกอบและส่วนตกแต่งสถาปัตยกรรมของ “เรือนขนมปังขิง” ตามรูปแบบวิคตอเรียน ผสมผสานกับเรือนไม้พื้นเมือง หรืออาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ ในล้านนาที่เรียกว่า “เรือนสรไน” เช่น มีหลังคาทรงปั้นหยา ฝาผนังไม้ซ้อนเกล็ดตามนอน ประตูหน้าต่างแบบบานลูกฟัก และการประดับคิ้วบัวรอบอาคาร ส่วนหลังคามีการตกแต่งเชิงชาย หน้าจั่วและส่วนยอดหลังคาด้วยไม้แกะสลักหรือฉลุลายและการประดับไม้กลึงยอดแหลมที่ปลายหน้าจั่วหลังคา เป็นต้น เป็นการเน้นความงามของอาคารด้วยการตกแต่งอย่างประณีตตามรสนิยมใหม่ในสมัยนั้น ที่มา: หนังสือสถาปัตยกรรมล้านนา ภาพถ่าย: สมาคมสถาปนิกสยาม […]

Posted on

อิทธิพลจากต่างประเทศ ตอน ๓ คุ้มเจ้า

หลังจากล้านนาตกเป็นเมืองขึ้นภายใต้การปกครองของพม่าและกอบกู้เอกราชคืนมาได้ จนรวมแผ่นดินเข้ากับสยาม ฐานะกษัตริย์ลดทอนลงเป็นเพียงเจ้าผู้ครองนคร จึงเรียกตำหนักที่ประทับว่า “คุ้มเจ้า” ซึ่งมีการสร้างในรูปแบบที่หลากหลาย เนื่องมาจากการมีสัมพันธไมตรีอันดีกับบางกอก จึงทำให้อิทธิพลสถาปัตยกรรมตะวันตกร่วมสมัยส่งผ่านจากบางกอกมาสู่กลุ่มเจ้าผู้ครองนครในล้านนา ในช่วงสมัยรัชกาลที่ ๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ปรากฏทั้งในรูปแบบของพระตำหนักของเจ้าผู้ครองนครและเชื้อพระวงศ์ รวมไปถึงเรือนของคหบดีและชาวบ้านทั่วไป ตลอดจนอาคารสาธารณะตามหัวเมืองต่างๆ ในล้านนา คุ้มเจ้าส่วนใหญ่เป็นอาคาร ๒ ชั้น มีทั้งอาคารไม้สักทั้งหลังและอาคารก่ออิฐถือปูนที่โครงสร้างภายในเป็นไม้สัก การเปลี่ยนแปลงที่ต่างจากเดิมและสังเกตได้ชัดเจน คือ รูปทรงหลังคาที่มีการจัดวางผังโครงสร้างหลังคาแบบต่างๆ ทั้งแบบสมมาตรอย่างเรียบง่ายและแบบซับซ้อน เช่น มีการซ้อนชั้นหลังคาและมีมุขหลังคาแบบต่างๆ ที่ได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมตะวันตก โดยเฉพาะรูปแบบเรือนขนมปังขิงรูปแบบ วิกตอเรียนและทิวดอร์ เช่น คุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่ คุ้มเจ้าหลวงลำพูน พระตำหนักดาราภิรมย์ หรือรูปแบบที่ผสมผสานอิทธิพลสถาปัตยกรรมตะวันตกเข้ากับสถาปัตยกรรมล้านนา เช่น คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ หอคำเมืองน่าน และแบบที่ผสมผสานรูปทรงหลังคาอย่างซับซ้อน เช่น คุ้มหลวงริมแม่นํ้าปิง ที่ได้รื้อถอนลงไปแล้ว ที่มา: หนังสือสถาปัตยกรรมล้านนา ภาพถ่าย: สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์, ธีรวัฒน์ วิญญรัตน์ / วีระพล สิงห์น้อย / สถาปนิก 49

Posted on

อิทธิพลจากต่างประเทศ ตอน ๒ วัด

สถาปัตยกรรมจากพม่าในสมัยอมรปุระ-มัณฑะเลย์ (พุทธศตวรรษที่ ๒๓ – ๒๕) ที่ผสมผสานรูปแบบพม่าแท้และมอญ (หรือเรียกว่า แบบมอญ-พม่า) ต่อเนื่องมาจากสมัยพุกาม มีอิทธิพลต่อการสร้างหรือบูรณปฏิสังขรณ์สถาปัตยกรรมทางศาสนาในล้านนา รูปแบบดังกล่าว นำมาโดยชาวพม่าและชนชาติอื่น เช่น ชาวไทใหญ่จากรัฐฉานในพม่า และชาวมอญจากเมืองหงสาวดี รวมถึงชาวเผ่าอื่นๆ ในพม่า ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๒๔ – ๒๕ เริ่มตั้งแต่ยุคฟื้นฟูเมือง หรือที่เรียกว่า “ยุคเก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” ในสมัยพระเจ้ากาวิละเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ (พ.ศ. ๒๓๒๕ – ๒๔๕๘) มีการรวบรวมกลุ่มชาวไตจากถิ่นต่างๆ ให้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในล้านนา ต่อมาเมื่อพม่าตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ชาวพม่า มอญ ไทใหญ่ และชาวเผ่าอื่นๆ เช่น ปะโอ กะเหรี่ยง ได้เข้ามาพร้อมกับชาวอังกฤษที่เข้ามารับสัมปทานทากิจการป่าไม้ในจังหวัดต่างๆ เช่น เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน แพร่ แม่ฮ่องสอน ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๓๖๙ ภายหลังเมื่อรํ่ารวยเป็นคหบดีจึงได้พากันบูรณะหรือสร้างวัดขึ้น เพื่ออุทิศส่วนกุศลและขออโหสิกรรมต่อนางไม้ที่พวกตนได้โค่นต้นไม้ลง โดยใช้ช่างมัณฑะเลย์ มีการสร้างเจดีย์และวิหารแบบพม่าจำนวนมาก อีกทั้งบางแห่งยังเพิ่มรายละเอียดลวดลายประดับที่แฝงอิทธิพลของตะวันตกรวมอยู่ด้วย […]

Posted on

อิทธิพลจากต่างประเทศ ตอน ๑ เจดีย์

ในช่วงยุคทองของอาณาจักรล้านนา มีเจดีย์บางแห่งที่มีรูปแบบพิเศษ แสดงถึงอิทธิพลจากต่างถิ่นอย่างชัดเจน โดยไม่ได้รวมเข้าในกระบวนการพัฒนารูปแบบสถาปัตยกรรมล้านนา กล่าวคือ ไม่รวมอยู่ในกลุ่มเจดีย์ ๒ รูปแบบหลัก ได้แก่ เจดีย์ทรงปราสาทและเจดีย์ทรงระฆัง ที่พัฒนาการมาเป็นแบบอย่างพื้นเมือง มีรูปลักษณ์แสดงถึงต้นแบบที่มาจากภายนอกอาณาจักรล้านนาอย่างชัดเจน เช่น เจดีย์เจ็ดยอด ที่ได้รับอิทธิพลจากอินเดีย และเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ที่ได้รับอิทธิพลจากสุโขทัย แต่รูปแบบเจดีย์เหล่านี้มีจำนวนไม่มากนัก เมื่อเทียบกับรูปแบบเจดีย์ที่ได้รับอิทธิพลจากพม่าในยุคหลัง เช่น เจดีย์ทรงกู่เต้าและเจดีย์ทรงระฆังแบบพม่า – มอญ ซึ่งมีการสร้างเป็นจำนวนมากในล้านนา อิทธิพลจากอินเดีย รูปแบบเจดีย์ที่ได้รับอิทธิพลทางพุทธศาสนาจากศิลปะอินเดียอย่างชัดเจนที่สุด คือ เจดีย์เจ็ดยอด เป็นเจดีย์ก่อด้วยศิลาแลง ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปจำลอง ที่สร้างขึ้นในช่วงยุคทองของอาณาจักรล้านนา เมื่อครั้งมีการสังคายนาพระธรรมวินัยเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ในปี พ.ศ. ๒๐๒๐ พญาติโลกราชทรงส่งพระสงฆ์ไปจำลองแบบจากวิหารมหาโพธิ์ เมืองพุกาม ซึ่งพม่าได้สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ ๑๘ โดยถ่ายทอดมาจากรูปแบบพระมหาโพธิเจดีย์ (พระมหาเจดีย์พุทธคยา) ประเทศอินเดีย โดยมีการปรับปรุงแบบบางส่วน เช่น การเพิ่มเจดีย์ทรงระฆังอีกสององค์ด้านหน้าจึงรวมเป็นเจ็ดยอด จากต้นแบบทั้งสองแห่งที่มีเพียงห้ายอด ส่วนฐานประทักษิณประดับรูปปูนปั้นเทวดายืนและนั่งในแต่ละด้าน มีช่องคั่นด้วยเสาติดผนังซ้อนสองชั้น ภายในประดิษฐานพระพุทธรูป อิทธิพลจากสุโขทัย ในช่วงยุคทองของอาณาจักรล้านนา มีการอัญเชิญพระสุมนเถระจากสุโขทัยมาเผยแผ่ศาสนาพุทธนิกายเถรวาทลังกาวงศ์ จึงได้รับอิทธิพลจากสุโขทัย คือ เจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ที่มีรูปทรงแบบดอกบัวตูม […]

Posted on

กาแลและหัมยนต์

รูปแบบเรือนพักอาศัยของคหบดีตามแบบสถาปัตยกรรมพื้นเมืองของล้านนาที่ตกทอดมาถึงปัจจุบัน มีอายุเก่าแก่ที่สุดประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๕ ประดับไม้แกะสลักลวดลาย ทั้งที่เป็นเอกลักษณ์ตามความเชื่อว่าเป็นเครื่องปกป้องสิ่งอัปมงคลไม่ให้เข้าสู่เรือน เช่น “หัมยนต์” ซึ่งเป็นไม้แกะสลักลวดลาย ติดอยู่เหนือประตูห้องนอนเจ้าของเรือน และการติดไม้ “กาแล” บนยอดปั้นลมหลังคาจั่วของเรือนกาแล รวมถึงการประดับไม้แกะสลักเพื่อความประณีตสวยงามในส่วนต่างๆ ของหลังคา ได้แก่ ไม้ปิดหัวอกไก่ ที่ติดบนยอดปั้นลมหลังคาจั่วของเรือนไม้จริง รวมทั้งเรือนกาแลบางหลังด้วย และการตกแต่งไม้แกะสลักขนาดเล็กในส่วนอื่นๆ เช่น ไม้ปิดหัวแป ที่ปิดปลายไม้แปที่ยื่นรับไม้กรอบปั้นลม ตัวเหงา ที่ปลายไม้กรอบปั้นลมทั้งสองข้าง และยางคํ้า (ปีกยาง) ที่คํ้ายันรับชายคา เป็นต้น ลวดลายประกอบ ได้แก่ ลายแม่แบบพื้นเมืองล้านนา ทั้งลายเมฆไหล ลายกระหนกล้านนา ลายพรรณพฤกษา และลายประดิษฐ์ในกรอบเรขาคณิต เช่น วงกลม สี่เหลี่ยม ตลอดจนรูปหยดนํ้า ผสมผสานเข้าด้วยกันในรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่รูปแบบเรียบง่ายของไม้ปิดหัวแปที่มีขนาดเล็ก ไปจนถึงหัมยนต์ที่มีรูปแบบสลับซับซ้อนมากขึ้น ที่มา: หนังสือสถาปัตยกรรมล้านนา ภาพถ่าย: วีระพล สิงห์น้อย / รุ่งกิจ เจริญวัฒน์ / สถาปนิก 49

Posted on

หอคำ

พระราชวังของกษัตริย์ หรือเรียกว่า “หอคำ” ตามแบบอย่างพื้นเมืองล้านนา ที่ยังมีอยู่ในปัจจุบันเป็นหอคำที่สร้างในพุทธศตวรรษที่ ๒๔ เครื่องประดับสถาปัตยกรรมแตกต่างไปจากบ้านเรือนทั่วไป คือ เครื่องลำยอง ประดับปั้นลมหลังคา กรอบประตูหน้าต่าง และทวยนาคตันไม้แกะสลักลายอย่างประณีต รับกับฝาตาผ้าและลูกกรงไม้กลึงในช่องหน้าต่าง และประดับรูปนกยูง เป็นสัญลักษณ์สำหรับกษัตริย์ หอคำของพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ ผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ ๖ ต่อมาภายหลังพระเจ้าอินทวิชยานนท์ ผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ ๗ ทรงให้รื้อไปดัดแปลงเป็นวิหารวัดแสนฝาง ปัจจุบันคือวิหารลายคำ ตกแต่งด้วยฝีมือสกุลช่างเชียงใหม่ หอคำนครลำปาง (จำลอง) ตั้งอยู่ที่พิพิธภัณฑ์เมืองโบราณ จังหวัดสมุทรปราการ จำลองจากหอคำของเจ้าผู้ครองนครลำปางในอดีตซึ่งถูกรื้อทิ้งไป โดยสร้างขึ้นจากภาพถ่าย ประกอบคำบอกเล่าของผู้ที่เคยพบเห็น ที่มา: หนังสือสถาปัตยกรรมล้านนา ภาพถ่าย: วีระพล สิงห์น้อย / รุ่งกิจ เจริญวัฒน์ / สถาปนิก 49

Posted on

การตกแต่งพื้นผิวอาคารเสนาสนะ

องค์ประกอบสถาปัตยกรรมประเภทอาคารเสนาสนะที่มีพื้นผิวเรียบและมองเห็นได้ชัด ได้แก่ หน้าบัน โครงหลังคา เสา ผนัง รวมไปถึงประตู หน้าต่าง หรือฝ้าเพดาน มักตกแต่งพื้นผิวเป็นลวดลายด้วยงานปิดทองแบบต่างๆ ทั้งลายบนผิวเรียบที่เรียกว่า “ลายคำ” ที่มีมาตั้งแต่โบราณ โดยปรากฏในงานสถาปัตยกรรมล้านนาตั้งแต่ช่วงยุคทอง เป็นวิธีการติดแผ่นทองคำเปลวลงในลายฉลุของแม่พิมพ์ลงบนพื้นผิวที่ทาสีแดงหรือสีดำ อาจมีการเขียนเส้นตัดขอบด้วย หรือมีการใช้เหล็กจารขูดเป็นลวดลายภายในบริเวณลายสีทอง เรียกว่า “ฮายลาย” และแบบลายนูน ๓ มิติ ด้วยการติดไม้ฉลุลายทับบนพืนเรียบด้านหลัง เรียกว่า “ปิดทองลายฉลุ” ซึ่งอาจมีการลงสีพื้นหลัง หรือประดับกระจกสีแผ่นบางบนลวดลาย หรือการขุดร่องลึกลงไปจากพื้นผิว เรียกว่า “ปิดทองร่องชาด” และนิยมงานประดับกระจกสีมากขึ้น มีทั้งที่ใช้ “กระจกเกรียบ” หรือกระจกสีที่ดาดลงบนแผ่นดีบุก แบบโบราณและ “กระจกแก้ว” พบได้ในสมัยหลัง ที่มักจะผสมกับการปิดทอง ได้แก่ แบบ “ปิดทองร่องกระจก” มีลักษณะเป็นลายปิดทองนูนต่ำ พื้นหลังขุดร่องประดับกระจกสี และ “ประดับกระจกลายยา” ซึ่งมีลักษณะตัวลายขุดร่องประดับกระจกสี ส่วนพื้นหลังปิดทองทึบ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีเทคนิค “สะตายจีน” คืองานปูนปั้นน้ำมันแบบจีน โดยใช้ปูนขาวผสมน้ำมันตั้งอิ้วที่สกัดจากต้นทั่ง ลวดลายส่วนใหญ่ยังคงยึดถือแบบแผนดั้งเดิมที่สืบทอดมาจากยุคทอง เช่น ลายแม่แบบต่างๆ […]

Posted on

ทวยนาคตัน

ส่วนไม้ค้ำยันแบบหูช้างติดตั้งยื่นจากหัวเสาเพื่อรับชายคากันสาดตลอดแนวสองข้างอาคาร ในยุคทองของอาณาจักรล้านนานิยมสลักลายพญาลวง รูปคล้ายพญานาคหรือมังกรมีเขาและมีปีก ประกอบลายฉลุและขอบบน – ล่าง หลังช่วงยุคทองของอาณาจักรล้านนาจึงมีการทำลวดลายเป็นรูปสัตว์อื่นๆ โดยเฉพาะสัตว์หิมพานต์ชนิดต่างๆ รวมทั้งลายนาคเกี้ยว เทวดา หรือผสมผสานสัตว์หิมพานต์กับลายแม่แบบอื่นๆ เช่น ลายกระหนกและลายเมฆไหล สิ่งที่น่าสนใจคือลายประดับในองค์ประกอบที่ติดตั้งเรียงรายซ้ำๆ ในวิหารหรืออุโบสถหลายแห่งในล้านนา มักจะแกะสลักลวดลายไม่ซ้ำแบบในอาคารเดียวกัน ตามแต่จินตนาการของช่างผู้สร้างสรรค์ ที่มา: หนังสือสถาปัตยกรรมล้านนา ภาพถ่าย: วีระพล สิงห์น้อย / รุ่งกิจ เจริญวัฒน์ / สถาปนิก 49