เมื่อแรกสร้างเมืองล้านนาในอดีตจะกำหนดตำแหน่ง “สะดือเมือง” ในบริเวณศูนย์กลาง หรือ “ข่วงเมือง” รวมทั้งตำแหน่งมุมเมือง ประตูเมือง และพระราชวัง ที่เรียกว่า “หอคำ” เป็นสถานที่ประทับของกษัตริย์และราชวงศ์ อยู่ภายในเขต “เวียงแก้ว” ซึ่งอยู่ติดด้านทิศเหนือของ “ข่วงเมือง” สิ่งปลูกสร้างที่สำคัญที่สุดที่ต้องสร้างขึ้นก่อนภายในหอคำ คือ “หอนอน” หรือพระตำหนักที่ประทับส่วนตัวของกษัตริย์ ซึ่งเรียกว่า “คุ้มหลวง” หรือ “หอหลวง” (และอาจเรียกว่า “หอคำ” เช่นเดียวกับคำเรียกพระราชวังด้วย) และ “โรงคำ” หรือที่ว่าราชการ อาคารอื่นที่สร้างในลำดับต่อมา ได้แก่ “คุ้มน้อย” หมายถึงที่อยู่อาศัยของบรรดาพระประยูรญาติ และทหารอยู่โดยรอบ “โรงคัล” หรือที่เข้าเฝ้า “เหล้ม” หรือเก็บคลังหลวง “ฉาง” หรือที่เก็บเมล็ดข้าวและธัญพืช รวมทั้ง “โรงช้าง” และ “โรงม้า” อาณาเขตของพระราชวังขยายออกไปได้ตามการเพิ่มจำนวนของเชื้อพระวงศ์ “คุ้มหลวง” ในยุคโบราณก่อนอาณาจักรล้านนาไม่คงทนมาถึงปัจจุบัน แต่ยังพอเปรียบเทียบได้กับ รูปแบบหอคำเก่าตามประเพณีดั้งเดิมที่น่าจะคล้ายคลึงกันของชาวไตเผ่าต่างๆ ในดินแดนใกล้เคียง เช่น สิบสองปันนาในแคว้นยูนนานทางใต้ของประเทศจีน เพราะมีต้นสายวัฒนธรรมและตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่ภูมิศาสตร์แบบเดียวกัน คือลักษณะเป็นอาคารยกพื้นสูงมีใต้ถุน ขนาดใหญ่กว่าเรือนพักอาศัยของประชาชนทั่วไป […]