Posted on

การจัดผังบริเวณวัดในล้านนา

วัดโดยทั่วไปแบ่งพื้นที่เป็น ๓ เขต ประกอบด้วย “เขตพุทธาวาส” เป็นเขตสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ประดิษฐานพระพุทธรูปและประกอบพิธีกรรมทางศาสนา มีสิ่งก่อสร้างหลักคือเจดีย์ (พระธาตุ) และวิหาร และบริเวณพื้นที่ว่างเป็นลานทราย นอกจากนั้น อาจมีอุโบสถ หอธรรมหอพระพุทธบาท หอระฆัง ศาลาบาตร ซึ่งอาจไม่มีครบทั้งหมดในแต่ละวัด เช่นบางวัดไม่จำเป็นต้องมีอุโบสถ เนื่องจากกลุ่มวัดในชุมชนล้านนาสมัยก่อน มักใช้อุโบสถร่วมกันในวัดใดวัดหนึ่ง เรียกว่า “หมวดอุโบสถ” ส่วน “เขตสังฆาวาส” เป็นเขตที่พำนักของพระสงฆ์ มีสิ่งก่อสร้าง คือ กุฏิ ห้องอาบน้ำ โรงเก็บอาหาร หอฉัน และศาลาการเปรียญ เป็นต้น ส่วน “เขตธรณีสงฆ์” เป็นอาณาเขตรอบวัด ได้มาจากการที่ฆราวาสกัลปนาที่ดินเพื่อเป็นประโยชน์แก่วัด แต่เดิมมักจะได้มาจากการกัลปนาโดยกษัตริย์ เขตพุทธาวาสตั้งอยู่ในตำแหน่งที่เข้าถึงเป็นลำดับแรกสุด ถัดมาเป็นเขตสังฆาวาสซึ่งอาจอยู่ด้านข้าง ด้านหลัง หรือโอบล้อมทั้งด้านข้างและด้านหลังของเขตพุทธาวาส ส่วนเขตธรณีสงฆ์จะมีทางเข้าด้านอื่นที่สามารถถึงได้ง่ายเช่นกัน การจัดวางตำแหน่งอาคารสำคัญในเขตพุทธาวาสของวัดในล้านนา ทั้งวัดหลวงและวัดราษฎร์ ส่วนใหญ่ยึดแนวแกนทิศตะวันออก – ตะวันตกเป็นแกนหลัก และวางแนวอาคารต่างๆ ตามยาวในทิศทางตามแนวแกนดังกล่าว อาคารสำคัญคือวิหาร จัดวางตามแนวแกนนี้เป็นลำดับแรก หันหน้าไปทางทิศตะวันออกตรงกับประตูทางเข้าวัด ซึ่งมักทำเป็นซุ้มโขง ลำดับต่อมาเป็นเจดีย์ที่ตั้งอยู่ทางด้านหลังวิหาร แต่บางวัดอาจมีเพียงวิหาร […]

Posted on

หอคำ – คุ้มหลวง – พระราชวังล้านนาโบราณ

เมื่อแรกสร้างเมืองล้านนาในอดีตจะกำหนดตำแหน่ง “สะดือเมือง” ในบริเวณศูนย์กลาง หรือ “ข่วงเมือง” รวมทั้งตำแหน่งมุมเมือง ประตูเมือง และพระราชวัง ที่เรียกว่า “หอคำ” เป็นสถานที่ประทับของกษัตริย์และราชวงศ์ อยู่ภายในเขต “เวียงแก้ว” ซึ่งอยู่ติดด้านทิศเหนือของ “ข่วงเมือง” สิ่งปลูกสร้างที่สำคัญที่สุดที่ต้องสร้างขึ้นก่อนภายในหอคำ คือ “หอนอน” หรือพระตำหนักที่ประทับส่วนตัวของกษัตริย์ ซึ่งเรียกว่า “คุ้มหลวง” หรือ “หอหลวง” (และอาจเรียกว่า “หอคำ” เช่นเดียวกับคำเรียกพระราชวังด้วย) และ “โรงคำ” หรือที่ว่าราชการ อาคารอื่นที่สร้างในลำดับต่อมา ได้แก่ “คุ้มน้อย” หมายถึงที่อยู่อาศัยของบรรดาพระประยูรญาติ และทหารอยู่โดยรอบ “โรงคัล” หรือที่เข้าเฝ้า “เหล้ม” หรือเก็บคลังหลวง “ฉาง” หรือที่เก็บเมล็ดข้าวและธัญพืช รวมทั้ง “โรงช้าง” และ “โรงม้า” อาณาเขตของพระราชวังขยายออกไปได้ตามการเพิ่มจำนวนของเชื้อพระวงศ์ “คุ้มหลวง” ในยุคโบราณก่อนอาณาจักรล้านนาไม่คงทนมาถึงปัจจุบัน แต่ยังพอเปรียบเทียบได้กับ รูปแบบหอคำเก่าตามประเพณีดั้งเดิมที่น่าจะคล้ายคลึงกันของชาวไตเผ่าต่างๆ ในดินแดนใกล้เคียง เช่น สิบสองปันนาในแคว้นยูนนานทางใต้ของประเทศจีน เพราะมีต้นสายวัฒนธรรมและตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่ภูมิศาสตร์แบบเดียวกัน คือลักษณะเป็นอาคารยกพื้นสูงมีใต้ถุน ขนาดใหญ่กว่าเรือนพักอาศัยของประชาชนทั่วไป […]