Posted on

เฮือนไม้จิ๋งและเฮือนกาแล

เรือนแบบประเพณีนิยมล้านนาดั้งเดิม มีทั้งรูปแบบ “เฮือนไม้จิ๋ง” (เรือนไม้จริง) และ “เฮือนกาแล” (เรือนกาแล) เรือนไม้จริง รูปทรงเรือนคหบดีล้านนาโบราณที่อ้างอิงได้ ปรากฏในภาพลายเส้น เรือนของเจ้าราชสีห์ ผู้ปกครองเมืองเชียงราย ที่เขียนโดย คาร์ล บ็อค นักสำรวจชาวนอร์เวย์ ในปี พ.ศ. ๒๔๒๔ ส่วน เรือนกาแล หรือในอดีตเรียกว่า “เรือนเชียงแสน” มีองค์ประกอบพิเศษที่เด่นชัดแตกต่างจากเรือนไม้จริงโดยทั่วไป ตามความเชื่อที่ได้รับอิทธิพลมาจากชาวลัวะชนพื้นเมืองเดิมว่าเป็นเครื่องปกป้องสิ่งอัปมงคล คือ “กาแล” เป็นไม้แกะสลักไขว้ติดอยู่ที่ยอดปั้นลมหลังคาจั่ว และ “หัมยนต์” ซึ่งเป็นไม้แกะสลักติดที่เหนือช่องประตูทางเข้าห้องนอนเจ้าของบ้าน “เฮือนกาแล” มีแหล่งกำเนิดในชุมชนเมืองเชียงใหม่และกระจายไปสู่พื้นที่โดยรอบบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำปิงตอนบน คือ จังหวัดเชียงใหม่และลำพูน ส่วนจังหวัดในที่ราบลุ่มแม่น้ำอื่นๆ มีเรือนกาแลเป็นส่วนน้อย

เรือนทั้ง ๒ รูปแบบ ใช้วิธีก่อสร้างแบบเรือนเครื่องสับ ซึ่งใช้ไม้จริงเป็นวัสดุก่อสร้างหลัก จัดขนาดไม้โครงสร้างแต่ละส่วนเป็นระเบียบ ประกอบเข้าไม้แบบสลักเดือย ตกแต่งด้วยไม้แกะสลักต่างๆ โดยมีตำราการสร้างเป็นแบบแผนด้วยความประณีต โครงสร้างระบบเสา – คาน ใช้ไม้เนื้อแข็ง วางเสาเป็นระบบตาราง ระยะช่วงเสาในด้านยาวแคบกว่าช่วงเสาในด้านสกัดของแนวหลังคา และมีเทคนิคการลดจำนวนเสาเรือนให้ได้ช่วงเสากว้างขึ้นโดยใช้ “เสาป๊อก” (เสาสั้นรับกลางช่วงคาน) ทั้งในโครงสร้างรับพื้นและหลังคา

การวางผังเรือนตามประเพณีนิยมล้านนาโดยทั่วไปเป็นเรือนกลุ่ม ส่วนใหญ่จัดวางหลังคาคู่ขนาน ให้เห็นด้านหน้าเรือนเป็นหลังคาจั่ว ๒ หลังแบบเรือนแฝด อาจมีขนาดใกล้เคียงกันหรือใหญ่เล็กต่างกัน และมีเรือนครัวขนาดเล็กแยกอยู่ด้านหลังอีกหลังหนึ่ง รูปแบบหลังคาจั่วมีการยื่นชายคา เรียกว่า “แง้บ” หรือ “ไขรา” ทั้งทางด้านข้างต่อเนื่องลงมาเป็นผืนเดียวกับหลังคาจั่ว เรียกว่า “ไขรากันสาด” มีชายคายื่นด้านหน้าจั่ว เรียกว่า “ไขราปีกนก” อยู่ใต้ปั้นลม หรือเข้ามุมกับไขรากันสาด ระหว่างชายคาด้านที่ชนกันมีรางน้ำฝน เรียกว่า “ฮ่องลิน” (ฮ่างลิน) สัดส่วนสามเหลี่ยมหน้าจั่วไม่สูงชันนัก มีมุมเอียงหลังคาอยู่ในช่วงประมาณ ๔๕ – ๕๑ องศา หลังคามุงด้วยไม้แป้นเกล็ดหรือกระเบื้องดินขอ

ส่วนพื้นและผนังใช้ไม้กระดาน โดยเฉพาะไม้สักซึ่งมีมากในภูมิภาคล้านนา เรือนดั้งเดิมฝาไม้กระดานตามตั้ง มีกรอบไม้แบ่งช่องย่อย ทำเป็นแผงกรุทับด้านนอกเสา โดยทั่วไปฝาแต่ละด้านจะทำเป็นแผงเดียวยาวตลอดส่วนที่กั้น มีหน้าต่างขนาดเล็กจำนวนน้อย ระบายอากาศและรับแสงธรรมชาติโดยการทำ “ฝาไหล” คือบานเลื่อนไม้ตีเว้นช่องตามตั้ง ๒ ชั้น ที่สามารถเลื่อนปรับขนาดช่องระบายอากาศได้ หรือลูกกรงไม้ตามตั้ง การเว้นร่องพื้นไม้กระดานในส่วนชานเรือน และเว้นช่องว่างระหว่างพื้นต่างระดับ

การจัดพื้นที่ใช้สอยบนเรือน ประกอบด้วยส่วนใช้สอยที่กั้นเป็นห้อง หรือแยกเรือน ได้แก่ ห้องนอน ห้องครัว และส่วนพื้นที่ใช้สอยส่วนรวม ได้แก่ ชานหน้าเรือน ซึ่งมักจะมีขนาดใหญ่เป็นพิเศษ ชานหลังเรือน และชานกลางระหว่างเรือนแต่ละหลัง ที่เรียกว่า “ชานฮ่อม” ชานใต้ชายคาเรียกว่า “พะไล” โถงโล่งใต้หลังคาจั่วส่วนที่ติดกับห้องนอน หรือครัว เรียกว่า “เติ๋น” นอกจากนี้ ยังมีส่วนประกอบย่อยที่เป็นเอกลักษณ์ เช่น “ฮ้านน้ำ” เป็นหิ้งไม้สำหรับวางตุ่มใส่น้ำดื่มอยู่ข้างราวระเบียงนอกชาน มีหลังคาขนาดเล็กคลุมบันไดขึ้นถึงชานด้านหน้า และอาจมีบันไดด้านหลังหรือด้านข้างด้วย เรือนสมัยหลังยังมีการทำหลังคาคลุมส่วนบันได ซึ่งมักจะมี “เสาแหล่งหมา” ซึ่งเป็นเสาโดด บริเวณตีนบันไดตั้งขึ้นไปรับชายคา ใช้ผูกสุนัข ส่วน “ต๊อมอาบน้ำ” หรือห้องน้ำสร้างแยกออกต่างหากไม่รวมอยู่ในตัวเรือน นอกจากบางหลังอาจมีการต่อเติมอยู่บนเรือนภายหลัง

ตำรามงคลโบราณล้านนาเกี่ยวกับการสร้างเรือนพักอาศัย กล่าวถึงรายละเอียดต่างๆ เช่น การกำหนดตำแหน่งเรือนบนแปลงที่ดินที่แบ่งเป็นสัดส่วน สัมพันธ์กับการกั้นรั้วและตำแหน่งประตูทางเข้า สัดส่วนขนาดของโครงสร้างเรือนมีระบบวัดเป็น นิ้ว คืบ ศอก วา กำหนดตามขนาดสัดส่วนร่างกายของเจ้าของเรือน และในการเริ่มก่อสร้างเรือน มีประเพณีในการยกเสาต้นแรกและต้นที่สอง เรียกว่า “เสามงคล” (เสาเอก) และ “เสานาง” (เสาโท) ตามลำดับ

เรือนโบราณตามแบบประเพณีนิยมล้านนาที่เก่าแก่ที่สุดมีอายุกว่า ๑๐๐ ปี มีทั้งที่เจ้าของเดิมสืบทอดกันมาในที่ตั้งเดิม และมีหลายหลังได้รื้อย้ายไปประกอบใหม่เพื่อการอนุรักษ์ เช่น พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา จังหวัดเชียงใหม่ ศูนย์วัฒนธรรมเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ และสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ กรุงเทพมหานคร

ที่มา: หนังสือสถาปัตยกรรมล้านนา
ภาพถ่าย: รุ่งกิจ เจริญวัฒน์ / สถาปนิก 49