Posted on

เรือนเครื่องสับและเฮือนไม้บั่ว

เรือนเครื่องสับ
เรือนไม้ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ใช้ไม้สัก และไม้เนื้อแข็ง เช่น เต็ง รัง ตะเคียน ไม้แดง เป็นวัสดุหลัก มีการ “ปรุง” (ตัดและขัดเกลาผิว) หน้าตัดและความยาวไม้ ให้ได้ขนาด ประกอบแต่ละส่วนเข้าด้วยกันด้วยวิธีการบากเจาะ เพื่อประกบหรือเข้าสลักเดือย เป็นต้น ในล้านนามี ๒ แบบ คือ “เฮือนไม้จิ๋ง” และ “เฮือนกาแล” รูปทรงหลังคาโดยทั่วไปเป็นหลังคาจั่วที่มีมุมเอียงไม่สูงชันนัก และระนาบหลังคาเรียบไม่แอ่นโค้ง ยื่นชายคายาวออกไปคลุมอาคารทางด้านยาว และมี “แง้บหน้า” (ไขราปีกนก) คือ กันสาดด้านสกัดอยู่ใต้หน้าจั่ว

การจัดวางผังเรือน มักจะมีอาคาร ๒ หลัง วางขนานกันตามยาว ทำให้ด้านหน้าเรือนมองเห็นหลังคาจั่วแฝด ที่มีแง้บหน้าแล่นยาวต่อเนื่องกันตลอดแนวทั้งสองหลังไปบรรจบเข้ามุมกับชายคาด้านยาว เรือนกาแลแตกต่างจากเรือนไม้จริงที่สังเกตได้ง่าย คือ มีไม้กาแลติดอยู่ที่ยอดปั้นลมหลังคา

การจัดวางเสาของตัวเรือนในระบบตาราง สัมพันธ์กับแนวหลังคา เป็นด้านยาวและด้านสกัด โดยทั่วไปด้านยาวภายใต้หลังคา แบ่งเป็น ๕ ช่วงเสา และจัดวางเรือนขนานกันตามยาว แต่อาจมีขนาดเรือน หลังคา และระยะบางช่วงเสาไม่เท่ากัน

เรือนไม้จริงหลังคาจั่ว
เรือนเจ้าเวียงเชียงใหม่
(พญาปงลังกา), พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา จังหวัดเชียงใหม่
เรือนไม้จริงหลังคาจั่ว
เรือนไทลื้อ (หม่อนตุด), พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา จังหวัดเชียงใหม่
เรือนไม้จริงหลังคาจั่ว
เรือนอุ๊ยผัด, พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา จังหวัดเชียงใหม่
เรือนไม้จริง
เรือนอุ๊ยแก้ว, พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา จังหวัดเชียงใหม่
ฮ่องลินและชานฮ่อม
เรือนกาแล (พญาวงศ์), พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา จังหวัดเชียงใหม่
ฮ่องลินและชานฮ่อม
เรือนซ้อ-หงส์, ศูนย์วัฒนธรรมเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่

เฮือนไม้บั่ว
“เฮือนไม้บั่ว” (เรือนไม้ไผ่) หรือเรือนเครื่องผูก เป็นเรือนขนาดเล็ก ใช้ไม้ไผ่เป็นวัสดุหลัก รูปทรงหลังคาโดยทั่วไปเป็นทรงจั่วที่มีชายคายื่นยาวคลุมทั้งด้านข้างและด้านหน้าจั่ว ทำให้มีส่วนหน้าจั่วขนาดเล็กเฉพาะส่วนบน วัสดุมุงหลังคา ได้แก่ หญ้าคา ตับจาก หรือใบตองตึงที่ปล่อยใบแห้งตามธรรมชาติ

ระบบโครงสร้างแบบเสา – คาน จัดวางเสาในระบบตาราง เสาและคานโครงสร้างตัวเรือนอาจใช้ไม้จริงหรือไม้ไผ่ที่ไม่ต้องขัดเกลาขนาด ส่วนโครงทั้งหลังคา พื้น ฝา โดยทั่วไปใช้ไม้ไผ่ผูกมัดกันด้วยเส้นที่ทำจากหวายหรือไผ่ แผ่นพื้นมักใช้ไม้ไผ่ผ่าเป็นซีกทุบแบน ปลายไม้ไม่ได้ตัดเรียบเสมอกัน วางเรียงกันเป็นแพ เรียกว่า “ฟาก” ส่วนบันไดวางพาดกับชานเรือนเป็นแบบโปร่ง ทำด้วยไม้จริงหรือไม้ไผ่ ส่วนฝาผนังมีทั้งที่ประกอบสำเร็จก่อนนำมาติดตั้งเข้ากับโครงสร้าง ได้แก่ ฝาไม้ไผ่ขัดสานแบบต่างๆ ฝาไม้ซางทุบเรียบ ฝาใบตองตึงที่เรียงซ้อนแล้วยึดประกบด้วยโครงไม้ไผ่ หรือฝากระดานไม้จริงตีตามตั้งหรือตามนอน แบบตีชนหรือตีเว้นห่างหยาบๆ ฝาทั้งหมดนี้ล้วนเป็น “ฝาที่หายใจได้” และเว้นระยะขอบบนห่างจากใต้หลังคาลงมาเล็กน้อย ทำให้ไม่ต้องมีช่องหน้าต่าง

ที่มา: หนังสือสถาปัตยกรรมล้านนา
ภาพถ่าย: รุ่งกิจ เจริญวัฒน์ / วีระพล สิงห์น้อย / สถาปนิก 49