ช่วงยุคทองของอาณาจักรล้านนา
เจดีย์ทรงปราสาท ลวดลายประดับองค์เจดีย์ส่วนใหญ่ยังคงอยู่ที่กรอบซุ้มจระนำหรือซุ้มโขงที่รับบันไดบนชั้นฐานประทักษิณ
ประติมากรรมนูนต่ำ มีการพัฒนาลวดลายจนเป็นแบบอย่างพื้นเมืองล้านนา เส้นสายและกรอบโครงเป็นรูปทรงอิสระและเลียนแบบธรรมชาติมากขึ้น เช่น “ลายพรรณพฤกษา” (ลายเครือเถา ลายเครือล้านนา) เป็นรูปดอกไม้ใบไม้ต่างๆ รวมถึงลายดอกไม้ร่วงที่ได้รับอิทธิพลจากลังกาใช้ประดับเพื่อลดที่ว่างของพื้นหลัง “ลายเมฆไหล” ได้รับอิทธิพลศิลปะจีน และ “ลายกระหนกล้านนา” ที่ขมวดหัวจนเกือบเป็นวงกลม ลวดลายในงานประติมากรรมนูนตํ่ามีลักษณะคล้ายงานฉลุโปร่ง ขอบลายคมชัด ดูเหมือนแยกส่วนจากพื้นเรียบด้านหลัง
ประติมากรรมนูนสูง นอกจากพระพุทธรูป ยังมีรูปเทวดา และรูปสัตว์หิมพานต์ ตามแนวความคิดจักรวาลคติ เช่น นาค สิงห์ หงส์ ครุฑ กินนร กินนรี รวมไปถึงมกรและมอม เจดีย์บางองค์ประดับรูปปูนปั้นช้าง ล้อมรอบส่วนฐานประทักษิณ ตามอิทธิพลศิลปะลังกา
เจดีย์ทรงระฆัง มีบัวซ้อนชั้นรับองค์ระฆังประดับลายกลีบบัว คั่นด้วยชั้นท้องไม้เจาะช่องสี่เหลี่ยมและรูปเทวดา
การตกแต่งพื้นผิว ในช่วงยุคทองของอาณาจักรล้านนา เจดีย์บางองค์ตกแต่งพื้นผิวในบางส่วนหรือรอบองค์เจดีย์ โดยการ “หุ้มทองจังโก” ซึ่งทำด้วยทองสำริด ตีแผ่นบางสำหรับบุผิว และ “ดุนลาย” บางองค์ประดับลายเป็นแถบโอบรอบในส่วนกลางองค์ระฆังเรียกว่า “รัดอก” และในส่วนปลายองค์ระฆังเรียกว่า “บัวคอเสื้อ” ตามอิทธิพลศิลปะพุกาม หรือมีการตกแต่งพื้นผิวแบบ “ลงรักปิดทอง” เป็นลวดลายดอกไม้ประดิษฐ์
พระธาตุเจดีย์ พระธาตุเจดีย์ที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ มีการประดับส่วนยอดด้วย “ฉัตร” (ฉัตรซ้อนชั้น ๓, ๕, ๗, ๙ ชั้น) และประดับ “สัปทน” (ฉัตรชั้นเดียว) ๔ มุมของส่วนฐานเจดีย์นอกเขตรั้ว ทำด้วยสำริดปิดทองหรือทองเหลืองฉลุลวดลายสวยงาม รวมทั้งประดับ “เครื่องโลหะบูชาพระธาตุ” ตั้งอยู่บนเสามุมรั้วที่ล้อมพระธาตุเจดีย์ โดยจำลองแบบเจดีย์ทรงปราสาทและเจาะช่องส่วนเรือนธาตุเพื่อจุดเทียนบูชาพระธาตุ เรียกว่า “โคมป่อง”
ช่วงหลังยุคทองของอาณาจักรล้านนา
เจดีย์ทรงปราสาท มีการประดับรูปเทวดาที่มุมเรือนธาตุ ในพุทธศตวรรษที่ ๒๕ การสร้างเจดีย์ที่ได้รับอิทธิพลจากพม่าและมอญ นิยมประดับ เจดีย์ด้วยเจดีย์ขนาดเล็กประจำมุม ซุ้มโขง รวมทั้งรูปสิงห์และนรสิงห์
การตกแต่งพื้นผิว มีการตกแต่งผิวองค์เจดีย์ด้วยทองมากขึ้น ทั้งการหุ้มทองจังโกแบบดั้งเดิม การตกแต่ง ลวดลายรัดอกและบัวคอเสื้อรอบองค์ระฆังเจดีย์โดยการปิดทองร่วมกับกระจกสี และในปัจจุบันมีการหุ้มผิวองค์เจดีย์ด้วยทองคำ ๙๙% โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่
ที่มา: หนังสือสถาปัตยกรรมล้านนา
ภาพถ่าย: รุ่งกิจ เจริญวัฒน์ / สถาปนิก 49