
เมื่อแรกสร้างเมืองล้านนาในอดีตจะกำหนดตำแหน่ง “สะดือเมือง” ในบริเวณศูนย์กลาง หรือ “ข่วงเมือง” รวมทั้งตำแหน่งมุมเมือง ประตูเมือง และพระราชวัง ที่เรียกว่า “หอคำ” เป็นสถานที่ประทับของกษัตริย์และราชวงศ์ อยู่ภายในเขต “เวียงแก้ว” ซึ่งอยู่ติดด้านทิศเหนือของ “ข่วงเมือง”
สิ่งปลูกสร้างที่สำคัญที่สุดที่ต้องสร้างขึ้นก่อนภายในหอคำ คือ “หอนอน” หรือพระตำหนักที่ประทับส่วนตัวของกษัตริย์ ซึ่งเรียกว่า “คุ้มหลวง” หรือ “หอหลวง” (และอาจเรียกว่า “หอคำ” เช่นเดียวกับคำเรียกพระราชวังด้วย) และ “โรงคำ” หรือที่ว่าราชการ อาคารอื่นที่สร้างในลำดับต่อมา ได้แก่ “คุ้มน้อย” หมายถึงที่อยู่อาศัยของบรรดาพระประยูรญาติ และทหารอยู่โดยรอบ “โรงคัล” หรือที่เข้าเฝ้า “เหล้ม” หรือเก็บคลังหลวง “ฉาง” หรือที่เก็บเมล็ดข้าวและธัญพืช รวมทั้ง “โรงช้าง” และ “โรงม้า” อาณาเขตของพระราชวังขยายออกไปได้ตามการเพิ่มจำนวนของเชื้อพระวงศ์
“คุ้มหลวง” ในยุคโบราณก่อนอาณาจักรล้านนาไม่คงทนมาถึงปัจจุบัน แต่ยังพอเปรียบเทียบได้กับ รูปแบบหอคำเก่าตามประเพณีดั้งเดิมที่น่าจะคล้ายคลึงกันของชาวไตเผ่าต่างๆ ในดินแดนใกล้เคียง เช่น สิบสองปันนาในแคว้นยูนนานทางใต้ของประเทศจีน เพราะมีต้นสายวัฒนธรรมและตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่ภูมิศาสตร์แบบเดียวกัน คือลักษณะเป็นอาคารยกพื้นสูงมีใต้ถุน ขนาดใหญ่กว่าเรือนพักอาศัยของประชาชนทั่วไป เน้นความแข็งแรงและความงามสง่า ใช้ไม้เนื้อแข็งเป็นวัสดุหลัก มุงหลังคาด้วยหญ้าคากระเบื้องแป้นเกล็ดหรือดินขอ ฝาผนังมีทั้งที่สร้างด้วยไม้ไผ่สานและฝาไม้กระดาน ทั้งแบบ “ฝาตาผ้า” (ฝาไม้ลูกฟัก) และ “ฝาแป้นหลั่น” (ฝาไม้บังใบตามตั้ง) มีการเจาะช่องหน้าต่างน้อยมาก มีหลังคาทรงจั่วเป็นหลัก นอกจากนั้น มีทรงจั่วซ้อนปั้นหยา หลังคามีทั้งแบบระนาบเดียวและแบบซ้อนระนาบหลังคา
สมัยอาณาจักรล้านนา เน้นองค์ประกอบประดับตกแต่งคุ้มหลวงให้สวยงามเป็นพิเศษ เช่น ซุ้มประตู ซุ้มหน้าต่าง หลังคา หน้าบัน รวมทั้งมีการจัดระบบเสาในผังอาคารแบบยกเก็จและโครงสร้างหลังคาแบบ “ม้าต่างไหม” ดังปรากฏในอาคารวิหารแบบพื้นเมืองของวัดล้านนา ซึ่งมีรูปแบบเดียวกัน
“คุ้มหลวง” แบบพื้นเมืองล้านนาที่ยังคงมีอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ หอคำของพระเจ้ามโหตรประเทศ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งได้ถูกรื้อย้ายโดยมีการดัดแปลงไปเป็นวิหารที่วัดพันเตา เนื่องจากกษัตริย์ล้านนานิยมการ “กัลปนา” (การบริจาคหรืออุทิศ) ที่ดินและคุ้มหลวงให้กับวัด



_
ที่มา: หนังสือสถาปัตยกรรมล้านนา
ภาพถ่าย: วีระพล สิงห์น้อย / รุ่งกิจ เจริญวัฒน์
vernadoc: รุ่งกิจ เจริญวัฒน์