สถาปัตยกรรมจากพม่าในสมัยอมรปุระ-มัณฑะเลย์ (พุทธศตวรรษที่ ๒๓ – ๒๕) ที่ผสมผสานรูปแบบพม่าแท้และมอญ (หรือเรียกว่า แบบมอญ-พม่า) ต่อเนื่องมาจากสมัยพุกาม มีอิทธิพลต่อการสร้างหรือบูรณปฏิสังขรณ์สถาปัตยกรรมทางศาสนาในล้านนา รูปแบบดังกล่าว นำมาโดยชาวพม่าและชนชาติอื่น เช่น ชาวไทใหญ่จากรัฐฉานในพม่า และชาวมอญจากเมืองหงสาวดี รวมถึงชาวเผ่าอื่นๆ ในพม่า ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๒๔ – ๒๕ เริ่มตั้งแต่ยุคฟื้นฟูเมือง หรือที่เรียกว่า “ยุคเก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” ในสมัยพระเจ้ากาวิละเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ (พ.ศ. ๒๓๒๕ – ๒๔๕๘) มีการรวบรวมกลุ่มชาวไตจากถิ่นต่างๆ ให้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในล้านนา ต่อมาเมื่อพม่าตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ชาวพม่า มอญ ไทใหญ่ และชาวเผ่าอื่นๆ เช่น ปะโอ กะเหรี่ยง ได้เข้ามาพร้อมกับชาวอังกฤษที่เข้ามารับสัมปทานทากิจการป่าไม้ในจังหวัดต่างๆ เช่น เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน แพร่ แม่ฮ่องสอน ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๓๖๙ ภายหลังเมื่อรํ่ารวยเป็นคหบดีจึงได้พากันบูรณะหรือสร้างวัดขึ้น เพื่ออุทิศส่วนกุศลและขออโหสิกรรมต่อนางไม้ที่พวกตนได้โค่นต้นไม้ลง โดยใช้ช่างมัณฑะเลย์ มีการสร้างเจดีย์และวิหารแบบพม่าจำนวนมาก อีกทั้งบางแห่งยังเพิ่มรายละเอียดลวดลายประดับที่แฝงอิทธิพลของตะวันตกรวมอยู่ด้วย […]