ในช่วงยุคทองของอาณาจักรล้านนา มีเจดีย์บางแห่งที่มีรูปแบบพิเศษ แสดงถึงอิทธิพลจากต่างถิ่นอย่างชัดเจน โดยไม่ได้รวมเข้าในกระบวนการพัฒนารูปแบบสถาปัตยกรรมล้านนา กล่าวคือ ไม่รวมอยู่ในกลุ่มเจดีย์ ๒ รูปแบบหลัก ได้แก่ เจดีย์ทรงปราสาทและเจดีย์ทรงระฆัง ที่พัฒนาการมาเป็นแบบอย่างพื้นเมือง มีรูปลักษณ์แสดงถึงต้นแบบที่มาจากภายนอกอาณาจักรล้านนาอย่างชัดเจน เช่น เจดีย์เจ็ดยอด ที่ได้รับอิทธิพลจากอินเดีย และเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ที่ได้รับอิทธิพลจากสุโขทัย แต่รูปแบบเจดีย์เหล่านี้มีจำนวนไม่มากนัก เมื่อเทียบกับรูปแบบเจดีย์ที่ได้รับอิทธิพลจากพม่าในยุคหลัง เช่น เจดีย์ทรงกู่เต้าและเจดีย์ทรงระฆังแบบพม่า – มอญ ซึ่งมีการสร้างเป็นจำนวนมากในล้านนา อิทธิพลจากอินเดีย รูปแบบเจดีย์ที่ได้รับอิทธิพลทางพุทธศาสนาจากศิลปะอินเดียอย่างชัดเจนที่สุด คือ เจดีย์เจ็ดยอด เป็นเจดีย์ก่อด้วยศิลาแลง ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปจำลอง ที่สร้างขึ้นในช่วงยุคทองของอาณาจักรล้านนา เมื่อครั้งมีการสังคายนาพระธรรมวินัยเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ในปี พ.ศ. ๒๐๒๐ พญาติโลกราชทรงส่งพระสงฆ์ไปจำลองแบบจากวิหารมหาโพธิ์ เมืองพุกาม ซึ่งพม่าได้สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ ๑๘ โดยถ่ายทอดมาจากรูปแบบพระมหาโพธิเจดีย์ (พระมหาเจดีย์พุทธคยา) ประเทศอินเดีย โดยมีการปรับปรุงแบบบางส่วน เช่น การเพิ่มเจดีย์ทรงระฆังอีกสององค์ด้านหน้าจึงรวมเป็นเจ็ดยอด จากต้นแบบทั้งสองแห่งที่มีเพียงห้ายอด ส่วนฐานประทักษิณประดับรูปปูนปั้นเทวดายืนและนั่งในแต่ละด้าน มีช่องคั่นด้วยเสาติดผนังซ้อนสองชั้น ภายในประดิษฐานพระพุทธรูป อิทธิพลจากสุโขทัย ในช่วงยุคทองของอาณาจักรล้านนา มีการอัญเชิญพระสุมนเถระจากสุโขทัยมาเผยแผ่ศาสนาพุทธนิกายเถรวาทลังกาวงศ์ จึงได้รับอิทธิพลจากสุโขทัย คือ เจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ที่มีรูปทรงแบบดอกบัวตูม […]
Tag: เจดีย์ทรงระฆัง
พุทธเจดีย์ในดินแดนล้านนา ตอน ๒ “เจดีย์ทรงระฆัง”
ช่วงยุคทองของอาณาจักรล้านนา มีการสร้างวัดและพระธาตุเจดีย์เป็นจำนวนมาก รวมทั้งบูรณปฏิสังขรณ์ศาสนสถานที่สร้างในยุคก่อนหน้าหลายแห่ง ทั้งในเมืองเชียงราย ลำพูน และลำปาง รูปแบบเจดีย์ได้รับการพัฒนาปรับปรุงสัดส่วนองค์ประกอบต่างๆ ถึงขีดสุด จนเป็นแบบอย่างเจดีย์พื้นเมืองของล้านนาที่มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นอย่างชัดเจน โดยมีทั้งเจดีย์ทรงปราสาทที่มีความเชื่อมโยงกับรูปแบบเจดีย์ทรงปราสาทของล้านนาตอนต้น และเจดีย์ทรงระฆัง อีก ๒ รูปแบบ คือ รูปแบบที่มีองค์ประกอบเชื่อมโยงกับเจดีย์ทรงระฆังแบบพุกามและเจดีย์ ทรงระฆังแบบสุโขทัย เมื่อขยายขอบเขตอาณาจักรกว้างขวางออกก็ได้แผ่อิทธิพลรูปแบบสถาปัตยกรรมไปยังเมืองต่างๆ ของล้านนา รวมถึงอาณาจักรล้านช้าง เจดีย์ทรงระฆังล้านนายุคทองแบบที่ ๑ มีลักษณะเชื่อมโยงกับเจดีย์ทรงระฆังแบบพุกาม (พุทธศตวรรษที่ ๑๖ – ๑๘) โดยผสมผสานทั้งแบบพม่าแท้และแบบที่ได้รับอิทธิพลจากลังกา ลักษณะสำคัญ คือ เจดีย์พุกามแบบพม่าแท้มีบัวซ้อนชั้นรับองค์ระฆังประดับลายกลีบบัว คั่นด้วยชั้นท้องไม้เจาะช่องสี่เหลี่ยม องค์ระฆังมี รัดอก และมีบัวปากระฆัง ส่วนฐาน ประทักษิณ ในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัสเพิ่มมุม ซึ่งมีบันไดขึ้นไปยังซุ้มประตู และประดับเจดีย์ขนาดเล็กประจำมุม (สถูปิกะ) ส่วนเจดีย์ที่ได้รับอิทธิพลจากลังกา มีชุดบัวลูกแก้ว ๓ ชั้นในผังกลม รับองค์ระฆังที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ มีบัลลังก์สี่เหลี่ยมจัตุรัส เจดีย์ล้านนามีการผสมผสานองค์ประกอบการทำฐานบัวในฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสเพิ่มมุมและยืดทุกสัดส่วนให้สูงเพรียว เจดีย์ทรงระฆังล้านนาในยุคทองที่มีลักษณะเชื่อมโยงกับเจดีย์ทรงระฆังแบบสุโขทัย ที่ได้รับอิทธิพลจากเจดีย์ของลังกาและอินเดีย เน้นองค์ระฆังขนาดใหญ่ มีบัวปากระฆังและมาลัยเถาแบบบัวถลา ซ้อนหลายชั้นรับองค์ระฆัง และเจดีย์บางองค์มีฐาน “ช้างล้อม” […]