ชาวล้านนาเรียกยุ้งข้าว ว่า “หลองข้าว” มีอยู่คู่ทุกเรือนพักอาศัยมาแต่โบราณ ในสังคมเกษตรกรรมทั้งหมู่บ้านชนบทและเมือง ในที่ราบลุ่มและบนภูเขา ทั้งในเรือนชาวบ้านทั่วไป คหบดี และเจ้า เช่นเดียวกับภูมิภาคใกล้เคียงในภาคอื่นๆ ของประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ไปถึงประเทศจีนและญี่ปุ่น เป็นต้น “หลองข้าว” มักสร้างอยู่เยื้องมาทางด้านหน้าตัวเรือน เพื่อให้สะดวกในการขนย้ายข้าวเปลือกจากที่นา โดยมีขนาดใหญ่เล็กตามสถานะทางเศรษฐกิจ หรือปริมาณการถือครองที่นาของเจ้าของ หรือบางแห่งไม่กั้นฝาห้อง แต่ใช้ภาชนะไม้ไผ่สานทรงกระบอกขนาดกว้างประมาณ ๑ เมตร สูงประมาณ ๑.๕ เมตร ทาอุดผิวด้วยขี้วัว ขี้ควาย ผสมดินและน้ำ เรียกว่า “เสวียน” ส่วนก้นเสวียนสานเป็นตาโปร่งๆ หลองข้าวพื้นเมืองล้านนา โดยทั่วไปจะเป็นอาคารยกเป็นใต้ถุนให้พื้นห่างจากดิน ตัวอาคารและหลังคามี ๒ รูปแบบใหญ่ๆ คือ แบบที่มีฝาอยู่ด้านในแนวเสาและอาจมีหลังคาทรงจั่วลาดลง ๒ ทางแบบทั่วไป และแบบซึ่งเป็นรูปแบบหลองข้าวที่มีเฉพาะในล้านนา ที่มีส่วนระเบียงซึ่งอาจปล่อยโล่งหรือกั้นฝาโดยรอบตัวอาคาร โดยยื่นป่องออกจากแนวเสา และมีหลังคาจั่วครอบบนชายคากันสาดยื่นคลุมทั้ง ๔ ด้านอีกชั้นหนึ่ง เป็นเอกลักษณ์อย่างชัดเจน หลองข้าวแบบล้านนา รูปแบบเสารับหลองข้าว จัดวางเสา ๒ แนว มีจำนวนช่วงเสา ตั้งแต่ ๑ […]