ในช่วงยุคทองของอาณาจักรล้านนาเป็นต้นมา นอกจากเจดีย์แล้ว มีองค์ประกอบเน้นทางเข้าหลักเข้าสู่เขตศาสนสถาน และอาคารเสนาสนะ เป็นอีกองค์ประกอบที่สำคัญที่สร้างด้วยวัสดุก่ออิฐถือปูน ได้แก่ ซุ้มโขง ซึ่งนอกจากประดับเจดีย์แล้ว ยังสร้างเป็นซุ้มประตูทางเข้าเขตพุทธาวาส กรอบประตูวิหาร และประดับกู่มณฑป ภายในวิหารด้วย โดยพัฒนามาใช้ลายพรรณพฤกษาแบบฉลุโปร่ง และรูปสัตว์หิมพานต์ รวมถึงลาย “นาคเกี้ยว” ลักษณะเป็นรูปนาค ๒ ตัว มีหางเกี่ยวกันเป็นกรอบซุ้ม ภายในช่องโค้งเหนือทางเข้าอาจประดับด้วยงานลายคำ เช่น ธรรมจักรและปูรณฆฏะ นอกจากนี้ มีการเน้นทางเข้าสำคัญด้วยประติมากรรมลอยตัวปูนปั้นรูปสัตว์ที่มีความหมายตามแนวความคิดจักรวาลคติ หรือการเฝ้ารักษาศาสนสถาน เช่น รูปสิงห์คู่ขนาบสองข้างทางเข้าเขตพุทธาวาส ตั้งอยู่ด้านหน้าซุ้มโขงอีกชั้นหนึ่ง และบันไดนาคที่ขึ้นสู่สถาปัตยกรรมสำคัญ เช่น เจดีย์ วิหาร อุโบสถ หอธรรม ที่นอกจากประดับรูปนาคหรือมกรคายนาคแล้ว บางแห่งอาจประดับด้วยรูปมอม และมีการประดับด้วยรูปเทวดาปูนปั้นหรือไม้แกะสลักในส่วนต่างๆ เช่น เป็นปากแลตั้งระหว่างเครื่องลำยองปิดปั้นลมต่างระดับ ประตูบานคู่ด้านหน้าวิหาร บริเวณเสาหรือมุมผนังอาคารด้านนอก หรือบนโครงหลังคาในระดับไม้คอสอง ในช่วงหลังยุคทองของอาณาจักรล้านนา มีการทำซุ้มโขง สิงห์คู่ บันไดนาค และรูปเทวดา โดยมีรูปทรง สัดส่วนการประดับตกแต่ง ที่พัฒนาเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย โดยเฉพาะบันไดนาค ซึ่งเลื้อยลำตัวลงมาขดเป็นวงอยู่บนพื้นด้านหน้าบันไดสองข้าง หรือมีส่วนหางปรากฏอยู่ทางบันไดด้านหลัง ที่มา: […]
Tag: มกร
เครื่องประดับสถาปัตยกรรม ตอน ๑ “ช่วงก่อนยุคทองของอาณาจักรล้านนา”
ช่วงก่อนยุคทองของอาณาจักรล้านนา ประกอบด้วย ประติมากรรมนูนตํ่าและนูนสูง โดยเฉพาะเจดีย์ทรงปราสาท ที่เน้นการประดับลวดลายส่วนเรือนธาตุ เช่น แนวเส้นลวดบัวประดับเสาและกรอบซุ้มจระนำ ประติมากรรมนูนต่ำ มีลักษณะแบบลายทึบ ผิวหน้าของตัวลายเรียบเสมอกัน ทำให้ดูเป็นเนื้อเดียวกับพื้นเรียบด้านหลัง ลวดลายพื้นฐานเป็นลวดลายที่เชื่อมโยงกับศิลปะทวารวดีทางตอนใต้และศิลปะพุกามทางตะวันตก รวมทั้งศิลปะคุปตะในอินเดีย ประกอบด้วย ลายแม่แบบ ได้แก่ ลายประดิษฐ์ของดอกไม้ ใบไม้ ในกรอบโครงรูปเรขาคณิต เช่น วงกลม สี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม วงรี เส้นขนาน หรือมีการจัดเรียงแถวอย่างเป็นระเบียบและไม่ซับซ้อน ประติมากรรมนูนสูง มักใช้สำหรับรูปเคารพ ได้แก่ พระพุทธรูป รูปเทวดา นอกจากนี้มีรูปสัตว์ เช่น มกร หน้ากาล และสัตว์หิมพานต์ เช่น สิงห์ ครุฑ คชสีห์ หงส์ ซุ้มจระนำ กรอบโค้งหยักบนชั้นเรือนธาตุของเจดีย์ทรงปราสาทในสมัยก่อนยุคทอง หน้ากาล (เกียรติมุข กีรติมุข ราหู สิงหมุข) รูปหน้าอมนุษย์ มีศีรษะ ไม่มีริมฝีปากล่าง ไม่มีลำตัว ใช้ประดับเหนือซุ้มหรือทางเข้า เป็นสัญลักษณ์ตามความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ ในการขจัดสิ่งชั่วร้ายไม่ให้เข้าไปในอาคาร […]