ฝาผนัง มีลักษณะเป็นแผงประกอบสำเร็จ ก่อนติดตั้งทับด้านนอกแนวเสา ยาวต่อเนื่องไปตลอดแนวอาคาร โดยวางบนหัวของแวงและตง ที่ยื่นออกมารับแต่ละด้าน ประกอบด้วยกรอบไม้โดยรอบที่เซาะร่องเป็นรางสำหรับวางแผ่น “ลูกกรุ” ซึ่งมีทั้งวัสดุ แผ่นกระดานไม้จริง เรียกว่า “ฝาไม้แป้น” และไม้ไผ่ เรียกว่า “ฝาไม้บั่ว” “ฝาไม้แป้น” มีรูปแบบต่างๆ เช่น “ฝาตาผ้า” แบ่งกรอบซอยภายในตามแบบแผนมีกรอบตามแนวตั้งเป็นหลักและกรอบแนวนอนภายในอีก ๒ แนวใกล้ขอบบน – ล่าง แบ่งช่องลูกกรุตามตั้งออกเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาวตามตั้งในช่วงกลาง และสี่เหลี่ยมเล็กในแถวบน – ล่าง เซาะร่องกรอบไม้เป็นรางเพื่อบรรจุลูกกรุเข้าลิ้นแยกในแต่ละช่อง และติด “เล็บ” หรือคิ้วไม้ประกับภายในช่องกรอบย่อยโดยรอบอีกชั้นหนึ่ง ใช้กับเรือนคหบดี เช่น เรือนกาแล แบบที่ ๒ เรียกว่า “ฝาตั้ง” วางเรียงลูกกรุตามตั้ง รอยต่อชน แบบที่ ๓ เรียกว่า “ฝาแป้นหลั่น” วางเรียงลูกกรุตามตั้ง รอยต่อแบบบังใบ “ฝาตั้ง” และ “ฝาแป้นหลั่น” นี้ไม่มีแบบแผนตายตัวในการจัดแนวไม้คิ้วทับแนว เช่น ไม้คิ้วทับแนวตามระยะช่วงเสา ไม้คิ้วทับรอยต่อลูกกรุตามตั้งทุกแนว หรือจัดไม้คิ้วตามตั้ง […]
Tag: ฝาผนัง
ป๋างเอก
ฝาผนัง เรียกตามคำล้านนาว่า “ป๋างเอก” มี ๒ ลักษณะ ได้แก่ ฝาผนังไม้ที่ติดตั้งอยู่เฉพาะครึ่งบน เรียกว่า “ฝาย้อย” หรือ “ฝาหยาด” ในอาคารแบบเปิด ที่แต่ละช่วงเสาเปิดโล่งให้คนสามารถเดินเข้าได้โดยรอบ ทำให้ต้องทิ้งปลายชายคาต่ำลงเพื่อกันแดดและฝนได้เพียงพอ มักใช้กับวิหารทรงพื้นเมือง เรียกว่า “วิหารโถง” หรือ “วิหารป๋วย” ส่วนฝาผนังเต็มความสูงจากพื้นถึงใต้ชายคาโดยมีหน้าต่างในแต่ละช่วงเสาในอาคารแบบปิด อาจเป็นฝาผนังไม้ครึ่งบน ต่อด้วยฝาผนังก่ออิฐถือปูนครึ่งล่าง หรือเป็นฝาผนังก่ออิฐถือปูนทั้งหมด ป๋างเอกของอาคารชั้นสูงมักทำด้วยฝาไม้กระดานเข้าลิ้นประกอบอยู่ในกรอบโครงไม้รูปสี่เหลี่ยมย่อยๆ เรียกว่า “ฝาตาผ้า” และอาคารแบบปิด มีทั้งที่ใช้ฝาตาผ้าซึ่งเป็นไม้ทั้งหมด หรือพัฒนาต่อเติมเป็นฝาผนังก่ออิฐถือปูนช่วงล่างต่อจากฝาตาผ้าช่วงบน หรือก่ออิฐถือปูนทั้งหมดในสมัยหลัง ในอาคารแบบปิด หากพื้นที่ใหญ่จะใช้กรอบทางตั้งเป็นแนวหลักและแบ่งซอยด้วยกรอบแนวนอน ส่วนแผงไม้ที่ติดระหว่างเสา เช่น ฝาย้อยและแผงคอสอง จะแบ่ง ช่องสี่เหลี่ยมผืนผ้าแนวเดียวเรียงตามแนวนอน ส่วนใหญ่มีประตูทางเข้าบานเปิดคู่กลางเฉพาะด้านหน้าเน้นทางเข้าหลักด้วยกรอบซุ้มประตู หรือมีประตูเล็กทางด้านข้างด้วย และเจาะช่องหน้าต่างบานเปิดคู่ในแต่ละช่วงเสา หรือเจาะช่องแสง แบบช่องตีนกา (ปล่องเบงจร) เป็นรูปกากบาท หรือเจาะช่องลูกกรงตามตั้งด้วยไม้กลึงแบบลูกมะหวด และช่องลูกกรงตามตั้งไม้หรือปูนแบบหน้าตัดสี่เหลี่ยมขอบเรียบ ที่มา: หนังสือสถาปัตยกรรมล้านนา ภาพถ่าย: รุ่งกิจ เจริญวัฒน์ / วีระพล สิงห์น้อย […]