ฝาผนัง มีลักษณะเป็นแผงประกอบสำเร็จ ก่อนติดตั้งทับด้านนอกแนวเสา ยาวต่อเนื่องไปตลอดแนวอาคาร โดยวางบนหัวของแวงและตง ที่ยื่นออกมารับแต่ละด้าน ประกอบด้วยกรอบไม้โดยรอบที่เซาะร่องเป็นรางสำหรับวางแผ่น “ลูกกรุ” ซึ่งมีทั้งวัสดุ แผ่นกระดานไม้จริง เรียกว่า “ฝาไม้แป้น” และไม้ไผ่ เรียกว่า “ฝาไม้บั่ว” “ฝาไม้แป้น” มีรูปแบบต่างๆ เช่น “ฝาตาผ้า” แบ่งกรอบซอยภายในตามแบบแผนมีกรอบตามแนวตั้งเป็นหลักและกรอบแนวนอนภายในอีก ๒ แนวใกล้ขอบบน – ล่าง แบ่งช่องลูกกรุตามตั้งออกเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาวตามตั้งในช่วงกลาง และสี่เหลี่ยมเล็กในแถวบน – ล่าง เซาะร่องกรอบไม้เป็นรางเพื่อบรรจุลูกกรุเข้าลิ้นแยกในแต่ละช่อง และติด “เล็บ” หรือคิ้วไม้ประกับภายในช่องกรอบย่อยโดยรอบอีกชั้นหนึ่ง ใช้กับเรือนคหบดี เช่น เรือนกาแล แบบที่ ๒ เรียกว่า “ฝาตั้ง” วางเรียงลูกกรุตามตั้ง รอยต่อชน แบบที่ ๓ เรียกว่า “ฝาแป้นหลั่น” วางเรียงลูกกรุตามตั้ง รอยต่อแบบบังใบ “ฝาตั้ง” และ “ฝาแป้นหลั่น” นี้ไม่มีแบบแผนตายตัวในการจัดแนวไม้คิ้วทับแนว เช่น ไม้คิ้วทับแนวตามระยะช่วงเสา ไม้คิ้วทับรอยต่อลูกกรุตามตั้งทุกแนว หรือจัดไม้คิ้วตามตั้ง […]