เมืองมีชีวิต การใช้พื้นที่สาธารณะ Life Between Buildings

Original price was: ฿ 500.00.Current price is: ฿ 450.00.

  • ญาณ เกห์ล แต่ง
‘เมืองมีชีวิต: การใช้พื้นที่สาธารณะ’ เป็นหนังสือแปลลำดับที่ 3 ของ สนพ.ลายเส้นฯ และเป็นหนึ่งในเล่มที่มีการถามหามากที่สุด ทั้งกับคนอ่านในวงการสถาปนิกและนักผังเมือง และที่ไม่ใช่ อย่างนักโฆษณาประชาสัมพันธ์ เจ้าของกิจการ ร้านค้า นักกิจกรรม นักวิชาการวัฒนธรรม หลากหลายกลุ่มอาชีพแต่ล้วนมีจุดร่วมอย่างเดียวกันคือ ทุกคนอยากเห็นเมืองที่ตัวเองอาศัยอยู่นั้นดีขึ้นกว่าเดิม
ต้นฉบับของหนังสือเล่มนี้ ‘Life Between Buildings’ เขียนโดย Jan Gehl https://gehlpeople.com/
สถาปนิกนักออกแบบเมืองชาวเดนมาร์ก พิมพ์จำหน่ายครั้งแรกตั้งแต่ปี 1970 ถูกแปลรวมทั้งปรับแก้ไขข้อมูลให้ร่วมสมัยมาแล้วในหลายประเทศทั่วโลกมากถึง 22 ภาษา และใช้เวลา 43 ปีกว่าจะเกิดเป็นฉบับภาษาไทย
Jan Gehl เขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นโดยไม่ได้หวังให้เป็นตำราเรียน แต่มันคือสัญชาตญาณอันหลักแหลมของคนหนุ่มในวัย 35 ปี ที่เฝ้าสังเกตความเป็นไปของพฤติกรรมมนุษย์ตามท้องถนนและหมู่อาคาร และต้องการเรียกร้องสังคมให้มองเห็นความสำคัญของพื้นที่สาธารณะกับความต้องการใช้งานของมนุษย์ โดยเขาเชื่อว่าการออกแบบสร้างพื้นที่สาธารณะที่เหมาะสมกับบริบททางสังคมวัฒนธรรมและพฤติกรรมการใช้งาน มีส่วนช่วยเปลี่ยนทัศนคติ สร้างพฤติกรรมในการใช้ชีวิตที่ดี มีสุนทรีภาพร่วมกัน และเกิดเป็นความงามของการมีชีวิตอยู่ในสังคม
01 – Life Between Buildings เมืองมีชีวิต: การใช้พื้นที่สาธารณะ
เป็นการอธิบายวิถีชีวิตของผู้คนที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมือง เป็นชีวิตของปุถุชนที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย แต่มีปฏิสัมพันธ์ต่อกันในพื้นที่สาธารณะด้วยกิจกรรมที่มีความแตกต่างตามพื้นที่ที่ถูกจัดวาง เช่น การเดินเล่นหรือการจ๊อกกิ้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่กลางแจ้ง หรือกิจกรรมในลักษณะที่ต้องการผ่อนคลาย ผู้ใหญ่นั่งโอภาปราศรัย ท่ามกลางเสียงของเด็กๆ ที่เล่นด้วยกันอย่างสนุกสนาน ถือเป็นกิจกรรมเชิงสังคมที่เกิดความเชื่อมโยงเป็นลูกโซ่ ซึ่งการละเลยแนวคิดดังกล่าวของการวางผังเมืองแบบร่วมสมัยและในศตวรรษที่ 20 จึงมีส่วนทำให้การใช้ชีวิตสาธารณะในสังคมปัจจุบันมีชีวิตชีวาน้อยลง
02 – Prerequisites for Planning สิ่งจำเป็นเบื้องต้นในการวางผัง
Gehl วิเคราะห์คุณสมบัติทางกายภาพของประสาทสัมผัสมนุษย์ เช่น การรับกลิ่น การได้ยิน การมองเห็น โดยเขาเชื่อว่าจะต้องมีความสอดคล้องกันระหว่างขนาดของพื้นที่สาธารณะกับความรู้สึกของคน และนำไปสู่แนวคิดเพิ่มเติมที่ว่า ถ้าผู้คนรวมตัวกันทำกิจกรรม สิ่งที่แต่ละคนร่วมกันทำจะสร้างแรงกระตุ้นซึ่งกันและกัน ดังนั้นสถาปัตยกรรมที่ถูกสร้างขึ้นจะต้องไม่ขัดขวางกิจกรรมจึงจะเป็นการสร้างชีวิตให้ชุมชน ซึ่งจะเป็นพื้นฐานของการเกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างสภาพแวดล้อมกับผู้คนต่อไป
03 – To Assemble or Disperse รวมตัวหรือกระจาย: การวางผังเมืองและการวางผังบริเวณ
ว่าด้วยการออกแบบอาคารที่ต้องสอดคล้องกับมิติสัดส่วนของมนุษย์ เช่น การกำหนดระยะของเส้นทางเดิน ดังนั้นการกระจายตัวหรือรวมตัวของพื้นที่พักอาศัยจึงเป็นสิ่งที่มีผลต่อกิจกรรมในเมือง ในหนังสือยกตัวอย่างผังเมืองขนาดใหญ่ ที่พื้นที่พักอาศัยถูกจัดวางอย่างกระจายตัวและต้องพึ่งพาการใช้รถยนต์เป็นพาหนะหลัก ทำให้เมืองเติบโตอย่างไร้ทิศทางและจะสร้างปัญหาในที่สุด ตรงกันข้ามกับเมืองเก่าในยุโรปหลายเมืองที่มีถนนและจัตุรัสเป็นองค์ประกอบหลัก และกลายเป็นหลักคิดในการออกแบบเมืองใหม่ๆ ในปัจจุบัน
04 – Spaces for Walking, Places for Staying ที่ว่างไว้เดิน ถิ่นที่ไว้อยู่: การวางผังอย่างละเอียด
Gehl กล่าวถึงที่ว่างในพื้นที่สาธารณะที่ทำให้เกิดการเคลื่อนที่รวมทั้งการหยุดเคลื่อนที่เพื่อสร้างกิจกรรม นับเป็นองค์ประกอบทางกายภาพที่สำคัญที่สุดของพื้นที่สาธารณะที่จะทำให้ผู้คนได้สัมผัสประสบการณ์ร่วมขณะทำกิจกรรมและใช้เวลากับกิจกรรมนั้นๆ อย่างมีประสิทธิภาพ พื้นที่ว่างสำหรับการเดินจึงจำเป็นต้องมีมากพอ เป็นอิสระ และปราศจากความวุ่นวาย เป็นรายละเอียดของการออกแบบที่ต้องเอาใจใส่และเป็นปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพของพื้นที่สาธารณะ
___________________
หลังจากฉบับภาษาไทยได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2013 หนังสือ ‘เมืองมีชีวิต: การใช้พื้นที่สาธารณะ’ ก็ถูกพิมพ์ซ้ำอีกครั้งในปี 2017 สำหรับการบรรยายพิเศษในหัวข้อ ‘Livable Cities for 21st Century’ ที่ Jan Gehl ในวัย 81 (ในปีนั้น) รับคำเชิญจากภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และ สนพ.ลายเส้นฯ โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังกว่า 200 คน https://www.arch.chula.ac.th/web2017/?view=eventInfo&id=87
“ในภาวะปัจจุบัน ที่เมืองต่างๆ ในโลกกำลังอยู่ภายใต้การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ไปสู่ความเจริญมั่งคั่งและความทันสมัย ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า หลักการในการวางแผนและผังเชิงมานุษยนิยมที่ผมนำเสนอไว้ในหนังสือเล่มนี้ จะมีบทบาทในการเป็นแรงบันดาลใจให้กระบวนการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญยิ่งในประเทศไทยนี้สำเร็จเป็นอย่างดี”
ญาน เกห์ล (2013)

Out of stock

SKU: 978-616-7800-84-4 Categories: ,