
บ้านมักจะเป็นสถานที่ที่เราต้องการทำกิจกรรมหลากหลายอย่าง และต้องการบรรยากาศที่แตกต่างกันไปตามกิจกรรมนั้นๆ
ไม่ว่าอยากจะพักผ่อนในบรรยากาศสงบแต่อบอุ่นคนเดียว หรือชวนเพื่อนๆ มาพูดคุยสังสรรค์ในบรรยากาศที่ครื้นเครงและเป็นกันเอง
แสงนั้นนอกจากจะให้ความสว่างเพื่อให้มองเห็น พื้น ผนัง ฝ้า และวัตถุต่างๆ แล้ว ยังมีผลต่อการรับรู้พื้นที่และอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ อีกด้วย
ในบทความนี้จึงขอนำเกร็ดความรู้เล็กๆ น้อยๆ ที่เกี่ยวกับแสง ซึ่งมีผลต่อการรับรู้ เพื่อผู้อ่านจะได้นำไปเป็นประโยชน์ในการพิจารณาการออกแบบต่อไป
RENDEZVOUS โดย A49HD
แสงที่ทำให้พื้นที่ดูกว้างขึ้น
เช่นเดียวกับสีต่างๆ ที่มีผลให้พื้นที่แลดูกว้างขึ้น แสงก็เป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบที่มีผลให้พื้นที่หรือสเปซแลดูกว้างขึ้นได้เช่นกัน แต่เนื่องจากแสงจะมองเห็นก็ต่อเมื่อกระทบกับผิววัสดุ
ดังนั้นพื้นผิวและสีของวัสดุจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง การจัดแสงเพื่อให้พื้นที่ดูกว้างขยายมากขึ้นนั้น สามารถให้เห็นผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เมื่อจัดสมดุลของแสงให้เกิดความแตกต่างกันระหว่าง บน – ล่าง, ซ้าย – ขวา หรือ หน้า – หลัง ของพื้นที่ เช่น การให้แสงเบาๆ ที่พื้นบริเวณด้านหน้าและให้แสงทั่วทั้งผนังในบริเวณด้านหลัง
เพื่อให้พื้นที่โดยเฉพาะผนังปลายสายตานั้นแลดูห่างและกว้างออกไป หรือ การให้แสงเบาๆ แต่ฟุ้งกระจายกว้างๆ ไปยังผืนฝ้า ในขณะเดียวกันให้แสงสว่างที่แรงและคมชัดไปยังพื้นด้านล่าง
เพื่อให้ผืนฝ้าแลดูสูงขึ้นและขยายขึ้นไปด้านบน เป็นต้น
SUGAR HOUSE โดย A49HD
แสงที่ทำให้พื้นที่ดูลึกและมีมิติ
การจัดแสงเพื่อให้พื้นที่มีมิติมากขึ้นนั้นสามารถให้เห็นผลได้ เมื่อจัดสมดุลของแสงที่อยู่ในระยะใกล้ และระยะไกลให้เกิดความแตกต่างกัน โดยอาจให้จังหวะของแสงอย่างต่อเนื่อง
หรือให้มีการไล่ระดับความเข้มของแสงจากส่วนที่สลัวไปยังส่วนที่สว่าง ทั้งนี้ให้ปลายทางส่วนที่ลึกกว่าดูสว่างกว่าเสมอ เช่น สร้างจุดของแสงจากส่วนด้านหน้า
ต่อเนื่องไปยังส่วนด้านหลังอย่างมีจังหวะ ซึ่งจะจัดอย่างเป็นระเบียบ หรืออย่างไม่เป็นระเบียบ (random) ก็ได้ จะทำให้พื้นที่นั้นดูมีมิติหรือมีความลึกมากขึ้น หรือการไล่ระดับความเข้มของแสง
จากส่วนสลัวไปยังส่วนสว่างอย่างต่อเนื่อง โดยสลัวที่ด้านหน้าและสว่างที่ด้านหลัง ซึ่งอาจจะเป็นแสงที่เกิดจากการสะท้อนทางอ้อมจากการตกกระทบ (indirect light) ที่ไล่ระดับความเข้มของแสง
จากสว่างไปสลัวที่ฝ้าก็สามารถทำได้เช่นกัน
SUGAR HOUSE โดย A49HD
แสงที่ทำให้พื้นที่เกิดจุดศูนย์กลาง
การจัดแสงให้พื้นที่เกิดจุดศูนย์กลางนั้นสามารถให้เห็นผลได้ เมื่อทำให้เกิดแสงที่สว่างท่ามกลางแสงที่สลัว และให้เกิดความแตกต่างกันที่ชัดเจน หรือให้มีแสงที่แรงและคม
เพื่อให้วัตถุบริเวณจุดศูนย์กลางมีเงาและเงาสลัวที่คมชัด โดยบริเวณรอบๆ จัดให้มีแสงที่แบนและเบลอ ก็เป็นอีกวิธีที่จะสามารถสร้างจุดศูนย์กลางให้เกิดขึ้นได้ เช่น การให้แสงเฉลี่ยเท่าๆ กัน
ทั่วทั้งบริเวณ โดยให้มีแสงที่สว่างเฉพาะจุดที่แรงและสว่าง บริเวณที่ต้องการเน้นให้เป็นจุดศูนย์กลางของพื้นที่ จะสามารถขับให้จุดที่เน้นนั้น โดดเด่นขึ้นมาจากพื้นที่โดยรอบ หรือ
การให้แสงโดยรอบด้วยแสงที่เกิดจากการสะท้อนทางอ้อมจากการตกกระทบ หรือแสงที่ฟุ้งกระจายจากโคมที่มีวัสดุกระจายแสง (diffuser) เพื่อสร้างแสงที่แบนและเบลอให้เฉลี่ยเท่าๆ กันทั่วทั้ง
บริเวณ จากนั้นให้มีแสงที่แรงและคม โดยแสงที่ส่องตกกระทบโดยตรง (direct light) จากโคมจำพวกสปอตไลท์หรือดาวน์ไลท์ ที่มีมุมแคบ เพื่อให้บริเวณที่ต้องการเน้นนั้นมีเงาและเงาสลัวที่คมชัด
ก็จะสามารถทำให้พื้นที่เกิดจุดศูนย์กลางที่เด่นชัดได้เช่นเดียวกัน
เทคนิคที่นำมาแนะนำนี้สามารถนำมาใช้ประกอบกันได้ ขึ้นกับลักษณะของแต่ละพื้นที่ องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม รวมถึงพื้นผิว สี และขนาดของวัสดุต่างๆ
หรือแม้แต่ต้องการให้มองเห็นผลลัพธ์เด่นชัดเพียงใด เพราะท้ายที่สุดแล้วจุดประสงค์หลักของงานออกแบบไม่ว่าแขนงใดก็ตาม เชื่อว่าอยู่ที่ความสุขที่ผู้ใช้สอยรับรู้และรู้สึกได้
เมื่อมาเยือนหรือใช้สอยอยู่ ณ พื้นที่นั้นๆ เป็นสำคัญ
เรื่อง: กริช มโนพิโมกษ์ ที่ปรึกษาออกแบบแสงสว่าง
ภาพถ่าย: กฤษฎา บุญเฉลียว (Rendezvous)
W Workspace (Twisted House, Sugar House)