องค์ประกอบสำคัญที่มีลักษณะพิเศษเป็นเอกลักษณ์ของเรือนพักอาศัยพื้นถิ่นแบบล้านนา ยกตัวอย่างเช่น
เสาป๊อก
ในโครงสร้างของเรือนไม้จริงมีการใช้ “เสาป๊อก” (เสาสั้น) ทั้งชั้นใต้ถุนและชั้นโครงหลังคา เป็นการเพิ่มจุดรับน้ำหนักพื้นหรือโครงหลังคา โดยทำให้สามารถเว้นระยะระหว่างช่วงเสาในชั้นพื้นเรือนได้กว้างขึ้น โดยไม่ต้องมีเสาลอยเกะกะในบริเวณพื้นที่โล่ง นอกจากนี้ การแยกส่วนของไม้พื้นแต่ละห้องที่มีระดับเดียวกันเพื่อแยกการรับน้ำหนักจร จะใช้ไม้พื้นที่มีความหนาเท่ากับความหนาตง บวกกับความหนาไม้พื้นตามปกติ เรียกว่า “ไม้แป้นท่อง” วางตามแนวเสา
แหนบ
แหนบ คือ แผงกรุปิดในภายในกรอบโครงหลังคาจั่ว สำหรับบ้านเรือน มีการทำแต่ละช่องระหว่างโครงไม้ ที่เรียกว่า “แหนบ” โดยทั่วไปแหนบด้านจั่วหัวท้ายเรียกว่า “แหนบกั้นก้อง” มักจะกรุด้วย “ลูกกรุ” คือไม้ทึบแผ่นบาง ส่วนแหนบที่อยู่ภายในอาคารที่กั้นระหว่างเติ๋นกับห้องนอน เรียกว่า “แหนบเติ๋น” มักจะใส่ไม้กลึงเว้นระยะตามตั้ง ที่เรียกว่า “ลูกแก้ว” เพื่อระบายอากาศ และพาดไม้ “ขัวย่าน” ซึ่งเป็นไม้ไผ่คู่วางพาดขนาน สำหรับช่างขึ้นไปซ่อมดูแลโครงหลังคา ในชั้นโครงหลังคา ก็อาจเสริมกำลังโครงสร้าง กรณีที่ไม่ต้องการให้มีเสาจากพื้นขึ้นมาตั้งรับกลางช่วงด้วยชิ้นส่วนโครงค้ำเฉพาะตามตั้ง – ตามนอน ด้วย “เสาป๊อก” ระหว่างช่วงเสาด้านยาวและด้านสกัด ค้ำระหว่างไม้ขื่อหรืออะเสตามนอน ๒ ระดับ แต่อาคารจะไม่มีการใช้โครงค้ำในแนวทแยงเลย ยกเว้นบางหลังที่มี “ยางค้ำ” หรือ “ปีกยาง” ซึ่งเป็นไม้ค้ำยันรับชายคา
ขั้นไดและเสาแหล่งหมา
“เสาแหล่งหมา” อยู่บริเวณทางขึ้นชานเรือนแบบที่มีหลังคาคลุม “ขั้นได” (บันได) จะมีเสาลอยที่ตั้งรับหลังคานั้น ซึ่งใช้ประโยชน์อื่นได้ด้วย เช่น เป็นที่ติดบานพับ “ฮั้วจาน” (รั้วชาน) คือบานประตูโปร่งแบบซี่รั้วไม้กั้นทางขึ้นบันไดขั้นแรกหรือใช้ผูกสุนัข จึงเรียกกันทั่วไปว่า “เสาแหล่งหมา”
ที่มา: หนังสือสถาปัตยกรรมล้านนา
ภาพถ่าย: สถาปนิก 49 / รุ่งกิจ เจริญวัฒน์