Posted on

เครื่องประดับสถาปัตยกรรม ตอน ๑ “ช่วงก่อนยุคทองของอาณาจักรล้านนา”

ช่วงก่อนยุคทองของอาณาจักรล้านนา ประกอบด้วย ประติมากรรมนูนตํ่าและนูนสูง โดยเฉพาะเจดีย์ทรงปราสาท ที่เน้นการประดับลวดลายส่วนเรือนธาตุ เช่น แนวเส้นลวดบัวประดับเสาและกรอบซุ้มจระนำ

ประติมากรรมนูนต่ำ มีลักษณะแบบลายทึบ ผิวหน้าของตัวลายเรียบเสมอกัน ทำให้ดูเป็นเนื้อเดียวกับพื้นเรียบด้านหลัง ลวดลายพื้นฐานเป็นลวดลายที่เชื่อมโยงกับศิลปะทวารวดีทางตอนใต้และศิลปะพุกามทางตะวันตก รวมทั้งศิลปะคุปตะในอินเดีย ประกอบด้วย ลายแม่แบบ ได้แก่ ลายประดิษฐ์ของดอกไม้ ใบไม้ ในกรอบโครงรูปเรขาคณิต เช่น วงกลม สี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม วงรี เส้นขนาน หรือมีการจัดเรียงแถวอย่างเป็นระเบียบและไม่ซับซ้อน

ประติมากรรมนูนสูง มักใช้สำหรับรูปเคารพ ได้แก่ พระพุทธรูป รูปเทวดา นอกจากนี้มีรูปสัตว์ เช่น มกร หน้ากาล และสัตว์หิมพานต์ เช่น สิงห์ ครุฑ คชสีห์ หงส์
ซุ้มจระนำ กรอบโค้งหยักบนชั้นเรือนธาตุของเจดีย์ทรงปราสาทในสมัยก่อนยุคทอง

หน้ากาล (เกียรติมุข กีรติมุข ราหู สิงหมุข) รูปหน้าอมนุษย์ มีศีรษะ ไม่มีริมฝีปากล่าง ไม่มีลำตัว ใช้ประดับเหนือซุ้มหรือทางเข้า เป็นสัญลักษณ์ตามความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ ในการขจัดสิ่งชั่วร้ายไม่ให้เข้าไปในอาคาร เช่น หน้ากาลที่หัวเสาเจดีย์วัดป่าสัก จังหวัดเชียงราย

มกร สัตว์ประหลาดในนิยายของศาสนาพราหมณ์ ในแถบเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น อินเดีย พม่า ไทย และเขมร อยู่ในตระกูลจระเข้ เทียบได้กับ “เหรา” ในกลุ่มสัตว์หิมพานต์ ครึ่งบนเป็นสัตว์บก ครึ่งล่างเป็นสัตว์นํ้า เมื่อเป็นรูปประดับจะมีลักษณะเด่นคือมีการคายสิ่งใดสิ่งหนึ่งออกจากปาก เช่น มกรคายนาค มกรคายช่อดอกไม้ เป็นต้น จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ตัวสำรอก” เช่น มกรคายช่อมาลัย ที่หัวเสา สุวรรณจังโกฏิเจดีย์ วัดพระนางจามเทวี และมกรคายนาคที่หัวเสาวัดป่าสัก จังหวัดเชียงราย

ปูนปั้นประดับลายกลีบบัว เจดีย์เชียงยืน วัดพระธาตุหริภุญชัย จังหวัดลำพูน
ซุ้มปูนปั้นประดับลายฝักเพกา เจดีย์วัดป่าสัก จังหวัดเชียงราย ลักษณะเป็นแบบซุ้มเคล็กในศิลปะพุกาม ประดับหน้ากาลที่ยอดซุ้ม

ที่มา: หนังสือสถาปัตยกรรมล้านนา
ภาพถ่าย: รุ่งกิจ เจริญวัฒน์ / สถาปนิก 49