อาคารสำคัญต่างๆ ภายในวัด อาทิ วิหาร อุโบสถ หอธรรม ส่วนหนึ่งสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอาณาจักรล้านนาในยุคทอง หรือบางแห่งอาจเก่าถึงสมัยอาณาจักรหริภุญไชย ก็ล้วนแต่ได้รับการบูรณะภายหลังอีกหลายครั้ง เนื่องจากสร้างด้วยไม้เป็นวัสดุหลักจึงชำรุดทรุดโทรมไปเร็วกว่าอาคารก่ออิฐถือปูนที่สร้างใหม่ในสมัยหลัง อาคารสำคัญในวัดตามแบบอย่างพื้นเมืองล้านนาในยุคทองมีการประดับตกแต่งเป็นพิเศษในส่วนต่างๆ ของหลังคา และพื้นผิวขององค์ประกอบหลักภายในอาคาร
เครื่องประดับหลังคาอาคารเสนาสนะ ช่วงยุคทองของอาณาจักรล้านนา หลังคาอาคารสำคัญในวัดประดับตกแต่งด้วยเครื่องบนตามแนวสันหลังคา เครื่องลำยอง แผงแล ปากแล ประดับปลายปั้นลมหลังคา หน้าบัน ที่มีการตกแต่งลวดลาย รวมถึงทวยนาคตันที่คํ้ายันชายคาตลอดแนวอาคารทั้งสองข้าง เครื่องประดับเหล่านี้ส่วนใหญ่ใช้ไม้แกะสลักลวดลายอย่างสวยงาม
เครื่องประดับหลังคาอาคารเสนาสนะ ช่วงหลังยุคทองของอาณาจักรล้านนา เครื่องประดับตกแต่งหลังคาของอาคารเสนาสนะที่สืบทอดแบบอย่างพื้นเมืองล้านนาต่อมา ได้รับอิทธิพลจากทั้งศิลปะแหล่งต่างๆ อาทิ รัตนโกสินทร์ พม่า มอญ ไทยใหญ่ จีน หรือแม้กระทั่งตะวันตก เข้ามาผสมสานในรายละเอียด โดยเฉพาะลวดลายและเทคนิค รวมทั้งส่วนโก่งคิ้วใต้หน้าบัน ที่ตกแต่งให้โดดเด่นมากขึ้นด้วยรูปแบบและลวดลายที่หลากหลาย
เครื่องบนประดับสันหลังคา
ปราสาทเฟื้อง ส่วนประดับกลางสันหลังคา วิหาร และอุโบสถ เพื่อจำลองเขาพระสุเมรุตามคติจักรวาล มีรูปแบบและขนาดสัดส่วนต่างๆ กันตามแต่ฝีมือช่าง บางแห่งอาจมีรูปหงส์เต็มตัวขนาดเล็กเรียงกันตลอดแนวสันหลังคาด้วย
ช่อฟ้า ส่วนประดับปลายสันหลังคา และเป็นส่วนยอดของเครื่องลำยองประดับปั้นลมหน้าจั่ว ช่อฟ้าแบบล้านนาดั้งเดิมมีลักษณะตั้งตรง โดยมีลวดลายไม้ฉลุในกรอบสามเหลี่ยมประกอบอยู่ให้มั่นคงกับสันหลังคาคล้ายปราสาทเฟื้องครึ่งซีก แต่หากไม่มีปราสาทเฟื้องและช่อฟ้ารูปแบบอื่น เช่น ปลายเรียวแหลม อ่อนช้อย เอียงยื่นไปข้างหน้า ไม่ตั้งตรง มีรูปปากนก ปากปลา ปากครุฑ แบบที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะทางภาคกลางสมัยรัตนโกสินทร์ หรือเป็นรูปกินนรแต่งตัวแบบพม่า แบบที่ผสมผสานอิทธิพลศิลปะพม่าในยุคหลัง
เครื่องลำยอง ประดับปั้นลมหน้าจั่ว ประกอบด้วย ตัวลำยอง ใบระกา และหางวัน
ตัวลำยอง ส่วนเอียงลาดปิดแนวขอบปั้นลมตามแนวตรง ไม่เป็นคลื่น ตกแต่งลายประจำยาม เว้นห่างเป็นระยะ ต่อมาพัฒนาเป็นรูปลำตัวนาค แต่หากแนวตัวลำยองเป็นคลื่น ตามรูปแบบที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะทางภาคกลางสมัยรัตนโกสินทร์
ใบระกา ส่วนที่ยื่นออกจากแนวตัวลำยองเป็นระยะ โดยทั่วไปเป็นโค้งหยักชี้ลงด้านล่างปิดหัวแป ต่อมาพัฒนาเป็นรูปขานาค หากแนวตัวลำยองเป็นคลื่นหรือมีใบระกาชี้ขึ้นอยู่ด้านบน เป็นรูปแบบที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะทางภาคกลางสมัยรัตนโกสินทร์
หางวัน ส่วนปลายสุดด้านล่างทั้งสองข้างของปั้นลมแบบดั้งเดิม เป็นลายกระหนกม้วนเอียงออกเล็กน้อย วงม้วนตรงกลางมีเส้นรัศมี ประกอบกับลวดลายบนตัวลำยองหมายถึงการโคจรขึ้นลงของดวงตะวัน ต่อมาพัฒนาเป็น “หางหงส์” ที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะทางภาคกลางสมัยรัตนโกสินทร์ โดยผสมผสานศิลปะตามฝีมือช่างล้านนา เช่น รูปเศียรนาค มกรคายนาค หรือครุฑ เป็นต้น
แผงแลและปากแล แผงแล คือ แผงไม้ฉลุลายเพื่อปิดช่องว่างระหว่างองค์ประกอบสถาปัตยกรรม เช่น ติดตั้งอยู่ระหว่างหลังคาต่างระดับ โดยเฉพาะส่วนที่ยื่นเป็นปั้นลมสองข้างหน้าบัน มีมาตั้งแต่ช่วงยุคทองของอาณาจักรล้านนา ต่อมาภายหลังจึงมีการประดับปากแล เป็นตัวตั้งปิดขอบด้านหน้าแผงแลอีกชั้นหนึ่งด้วย ซึ่งมักทำด้วยไม้แกะสลักเป็นรูปเทวดายืน
ตะเข้สัน อาจมีการประดับด้วยรูปเหราทอดตัวลงมา มีหัวอยู่ที่ปลายล่าง หรือในสมัยหลังเป็นรูปกินนรแต่งตัวแบบพม่า เรียงแถวคล้ายหงส์ที่สันหลังคา
ลายปีเปิ้ง รูปสัตว์ตามปีนักษัตร เพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนปีเกิดของผู้สร้างหรือบูรณะ ปีสร้างหรือบูรณะศาสนสถาน หรือปีเกิดของผู้ที่ผู้สร้างอุทิศส่วนกุศลไปให้
ลายต้นพระศรีมหาโพธิ์ ใช้ประดับด้านหลังพระพุทธรูป อันมีความหมายถึงการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าที่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ โดยอาจมีรูปประกอบอื่นด้วย เช่น พระอาทิตย์ พระจันทร์ เทวดาโปรยดอกไม้ หงส์ นก และช่อดอกไม้ร่วง
ที่มา: หนังสือสถาปัตยกรรมล้านนา
ภาพถ่าย: วีระพล สิงห์น้อย / รุ่งกิจ เจริญวัฒน์ / สถาปนิก 49