Posted on

อิทธิพลจากต่างประเทศ ตอน ๔ เรือนคหบดี

อิทธิพลพม่า
ช่วงที่มีการทำสัมปทานป่าไม้ ต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๕ เช่น บ้านเสานัก จังหวัดลำปาง และเรือนโบราณ ๑๔๐ ปี จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีรูปแบบองค์ประกอบบางส่วนต่างออกไปจากเรือนล้านนาและเรือนสรไน

อิทธิพลตะวันตก
อิทธิพลทางสถาปัตยกรรมจากภายนอก ถูกนำมาผสมผสานในองค์ประกอบต่างๆ ของสถาปัตยกรรมบ้านเรือนที่อยู่อาศัยในล้านนา ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ มาจนถึงรัชกาลที่ ๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. ๒๓๙๔ – ๒๔๖๘) บ้านเมืองมีความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ และเริ่มมีความนิยมสถาปัตยกรรมตามแบบอย่างตะวันตก โดยเฉพาะรูปแบบวิคตอเรียน ที่มีการนำมาประยุกต์ใช้กับเรือนคหบดีและชนชั้นปกครอง ทำให้รูปแบบสถาปัตยกรรมเปลี่ยนไป เช่นเดียวกับคุ้มเจ้า ทั้งรูปแบบอาคารตึกหรือครึ่งตึกครึ่งไม้ มีการวางผังแบบตะวันตก และวิธีการก่อสร้างโดยการใช้ระบบผนังก่ออิฐรับนํ้าหนัก การทำช่องโค้ง มีการประยุกต์องค์ประกอบและส่วนตกแต่งสถาปัตยกรรมของ “เรือนขนมปังขิง” ตามรูปแบบวิคตอเรียน ผสมผสานกับเรือนไม้พื้นเมือง หรืออาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ ในล้านนาที่เรียกว่า “เรือนสรไน” เช่น มีหลังคาทรงปั้นหยา ฝาผนังไม้ซ้อนเกล็ดตามนอน ประตูหน้าต่างแบบบานลูกฟัก และการประดับคิ้วบัวรอบอาคาร ส่วนหลังคามีการตกแต่งเชิงชาย หน้าจั่วและส่วนยอดหลังคาด้วยไม้แกะสลักหรือฉลุลายและการประดับไม้กลึงยอดแหลมที่ปลายหน้าจั่วหลังคา เป็นต้น เป็นการเน้นความงามของอาคารด้วยการตกแต่งอย่างประณีตตามรสนิยมใหม่ในสมัยนั้น

เรือนหลวงศรีนครานุกูล (คหบดีชาวจีน) ถนนเจริญเมือง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ สร้างในปี พ.ศ. ๒๔๖๒ เป็นเรือนไม้ ๒ ชั้น แบบเรือนสรไน ประดับลวดลายไม้ฉลุที่หน้าจั่ว ระเบียง และชายคา แบบบ้านขนมปังขิง โดยได้รับแบบอย่างจากพระราชวังวิมานเมฆ
บ้านคมสัน ชุมชนตลาดเก่า จังหวัดลำปาง เป็นบ้านคหบดีชาวจีน สร้างในปี พ.ศ. ๒๔๖๐ เป็นอาคาร ๒ ชั้น หลังคาทรงปั้นหยาผสมจั่วปาดมุม ตกแต่งขอบบัวปูนปั้นและประดับกระจกสีตามช่องประตูหน้าต่าง เดิมตัวบ้านทาสีเทาอ่อน หลังคามุงกระเบื้องสีแดง แต่ปัจจุบันได้ปรับปรุงซ่อมแซมทาสีใหม่ ชั้นล่างออกแบบยกใต้ถุนสูง ในระดับเดียวกับสะพานรัษฎาภิเศก ซึ่งสร้างในปีเดียวกัน เพื่อป้องกันนํ้าท่วม
บ้านสินานนท์ ชุมชนตลาดเก่า จังหวัดลำปาง เป็นบ้านของหลวงวานิชกำจร คหบดีชาวจีน สร้างในปี พ.ศ. ๒๔๖๒ เป็นอาคาร ๒ ชั้น หลังคาทรงจั่วปาดมุมเป็นมุขหลังคา ๔ ด้าน ทาสีฟ้าขาว รูปแบบสถาปัตยกรรมอาร์ตเดโค ตกแต่งขอบบัวปูนปั้นและประดับกระจกสีตามช่องประตูหน้าต่าง มีซุ้มประตูรั้วบ้านแบบหลังคาโค้ง เป็นบ้านหลังแรกในจังหวัดลำปางที่สร้างแบบตะวันตก โดยใช้วัสดุโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก
เรือนลุงคิว (อาคารคิวริเปอร์) ตั้งอยู่ที่พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๕ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ๒ ชั้น หลังคาปั้นหยา เจ้าของเดิมคืออาเธอร์ ไลออเนล ควีริเพล (Arther Lionel Queripel) ซึ่งเป็นบุคคลแรกที่นำสตรอว์เบอร์รีมาปลูกในเมืองไทย

137 Pillars House จังหวัดเชียงใหม่ เดิมเป็นบ้านพักของหลุยส์ ที. เลียวโนเวนส์ (Louis T. Leonowens) บุตรของแหม่มแอนนา (Anna Leonowens) ครูสอนภาษาอังกฤษในสมัยรัชกาลที่ ๔ สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๓๒ พร้อมกับอาคารสำนักงานบริษัท อีสต์บอร์เนียว เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ สิ้นสุดลง บ้านหลังนี้ถูกทิ้งร้างระยะหนึ่ง ปัจจุบันปรับปรุงเป็นโรงแรมชื่อ 137 Pillars House

ที่มา: หนังสือสถาปัตยกรรมล้านนา
ภาพถ่าย: สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์, ธีรวัฒน์ วิญญรัตน์ / วีระพล สิงห์น้อย / รุ่งกิจ เจริญวัฒน์