Posted on

อิทธิพลจากต่างประเทศ ตอน ๓ คุ้มเจ้า

หลังจากล้านนาตกเป็นเมืองขึ้นภายใต้การปกครองของพม่าและกอบกู้เอกราชคืนมาได้ จนรวมแผ่นดินเข้ากับสยาม ฐานะกษัตริย์ลดทอนลงเป็นเพียงเจ้าผู้ครองนคร จึงเรียกตำหนักที่ประทับว่า “คุ้มเจ้า” ซึ่งมีการสร้างในรูปแบบที่หลากหลาย เนื่องมาจากการมีสัมพันธไมตรีอันดีกับบางกอก จึงทำให้อิทธิพลสถาปัตยกรรมตะวันตกร่วมสมัยส่งผ่านจากบางกอกมาสู่กลุ่มเจ้าผู้ครองนครในล้านนา ในช่วงสมัยรัชกาลที่ ๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ปรากฏทั้งในรูปแบบของพระตำหนักของเจ้าผู้ครองนครและเชื้อพระวงศ์ รวมไปถึงเรือนของคหบดีและชาวบ้านทั่วไป ตลอดจนอาคารสาธารณะตามหัวเมืองต่างๆ ในล้านนา

คุ้มเจ้าส่วนใหญ่เป็นอาคาร ๒ ชั้น มีทั้งอาคารไม้สักทั้งหลังและอาคารก่ออิฐถือปูนที่โครงสร้างภายในเป็นไม้สัก การเปลี่ยนแปลงที่ต่างจากเดิมและสังเกตได้ชัดเจน คือ รูปทรงหลังคาที่มีการจัดวางผังโครงสร้างหลังคาแบบต่างๆ ทั้งแบบสมมาตรอย่างเรียบง่ายและแบบซับซ้อน เช่น มีการซ้อนชั้นหลังคาและมีมุขหลังคาแบบต่างๆ ที่ได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมตะวันตก โดยเฉพาะรูปแบบเรือนขนมปังขิงรูปแบบ วิกตอเรียนและทิวดอร์ เช่น คุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่ คุ้มเจ้าหลวงลำพูน พระตำหนักดาราภิรมย์ หรือรูปแบบที่ผสมผสานอิทธิพลสถาปัตยกรรมตะวันตกเข้ากับสถาปัตยกรรมล้านนา เช่น คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ หอคำเมืองน่าน และแบบที่ผสมผสานรูปทรงหลังคาอย่างซับซ้อน เช่น คุ้มหลวงริมแม่นํ้าปิง ที่ได้รื้อถอนลงไปแล้ว

คุ้มวงศ์บุรี จังหวัดแพร่ สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๔๐ เป็นคุ้มของแม่เจ้าบัวถา มหายศปัญญา ชายาคนแรกในเจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ ลักษณะเป็นเรือนไม้สักทรงขนมปังขิง สูง ๒ ชั้น หลังคาจั่วมีชายคาปีกนกโดยรอบ ยื่นมุขหลังคาจั่วด้านหน้า ประดับลวดลายไม้ฉลุที่หน้าจั่ว ชายคา ระเบียงช่องลม ปัจจุบันอาคารส่วนหน้าจัดเป็นพิพิธภัณฑ์แสดงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของเจ้านายในอดีต
คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (คุ้มกลางเวียง) จังหวัดเชียงใหม่ เดิมเป็นของเจ้าบุรีรัตน์มหาอินทร์ หลานของเจ้าหลวง ผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ ๓ สร้างขึ้นประมาณปี พ.ศ. ๒๔๓๒ – ๒๔๓๖ ต่อมาตระกูลทิพยมณฑลได้ซื้อต่อจากทายาท เป็นอาคาร ๒ ชั้น ชั้นล่างก่ออิฐถือปูน ชั้นบนเป็นไม้สัก หลังคาจั่วมีชายคาปีกนกโดยรอบ มุงด้วยกระเบื้องดินขอ มีระเบียงรอบ ๒ ชั้น และมีบันไดอยู่ด้านนอก ลักษณะสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก ผสมผสานกับสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นล้านนา
หอคำเมืองน่าน จังหวัดน่าน หอคำหลังเดิมถูกรื้อถอนไป และมีการสร้างหอคำหลังใหม่ทดแทนในปี พ.ศ. ๒๔๔๖ บนที่ตั้งเดิม ในรูปแบบใกล้เคียงกัน ลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ๒ ชั้น โครงสร้างภายในเป็นไม้ หลังคาจั่วแบบตรีมุข มีระนาบหลังคาซ้อน ๒ ชั้น ผสมผสานรูปแบบสถาปัตยกรรมไทยกับตะวันตก ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน

ที่มา: หนังสือสถาปัตยกรรมล้านนา
ภาพถ่าย: สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์, ธีรวัฒน์ วิญญรัตน์ / วีระพล สิงห์น้อย / สถาปนิก 49