Posted on

อิทธิพลจากต่างประเทศ ตอน ๒ วัด

สถาปัตยกรรมจากพม่าในสมัยอมรปุระ-มัณฑะเลย์ (พุทธศตวรรษที่ ๒๓ – ๒๕) ที่ผสมผสานรูปแบบพม่าแท้และมอญ (หรือเรียกว่า แบบมอญ-พม่า) ต่อเนื่องมาจากสมัยพุกาม มีอิทธิพลต่อการสร้างหรือบูรณปฏิสังขรณ์สถาปัตยกรรมทางศาสนาในล้านนา รูปแบบดังกล่าว นำมาโดยชาวพม่าและชนชาติอื่น เช่น ชาวไทใหญ่จากรัฐฉานในพม่า และชาวมอญจากเมืองหงสาวดี รวมถึงชาวเผ่าอื่นๆ ในพม่า

ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๒๔ – ๒๕ เริ่มตั้งแต่ยุคฟื้นฟูเมือง หรือที่เรียกว่า “ยุคเก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” ในสมัยพระเจ้ากาวิละเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ (พ.ศ. ๒๓๒๕ – ๒๔๕๘) มีการรวบรวมกลุ่มชาวไตจากถิ่นต่างๆ ให้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในล้านนา ต่อมาเมื่อพม่าตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ชาวพม่า มอญ ไทใหญ่ และชาวเผ่าอื่นๆ เช่น ปะโอ กะเหรี่ยง ได้เข้ามาพร้อมกับชาวอังกฤษที่เข้ามารับสัมปทานทากิจการป่าไม้ในจังหวัดต่างๆ เช่น เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน แพร่ แม่ฮ่องสอน ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๓๖๙ ภายหลังเมื่อรํ่ารวยเป็นคหบดีจึงได้พากันบูรณะหรือสร้างวัดขึ้น เพื่ออุทิศส่วนกุศลและขออโหสิกรรมต่อนางไม้ที่พวกตนได้โค่นต้นไม้ลง โดยใช้ช่างมัณฑะเลย์ มีการสร้างเจดีย์และวิหารแบบพม่าจำนวนมาก อีกทั้งบางแห่งยังเพิ่มรายละเอียดลวดลายประดับที่แฝงอิทธิพลของตะวันตกรวมอยู่ด้วย เช่น รูปเทวดาแบบฝรั่ง

ส่วนชาวไทใหญ่เป็นกลุ่มที่เข้ามาค้าขายในล้านนามาเป็นระยะเวลานาน และเข้ามาเพิ่มขึ้นในพุทธศตวรรษที่ ๒๔ ที่อังกฤษเข้ามาทำกิจการป่าไม้ในล้านนา รวมทั้งในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๕ ที่เกิดการแย่งชิงการครอบครองหัวเมืองไทใหญ่ในพม่า ทำให้ชาวไทใหญ่อพยพเข้ามาบุกเบิกที่อาศัยในเมืองแม่ฮ่องสอน และได้สร้างวัดขึ้นเช่นเดียวกับชาวพม่า วัดที่ชาวไทใหญ่สร้างส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอนและลำปาง ซึ่งเป็นศูนย์กลางการทำป่าไม้ในสมัยนั้น

ในช่วงหลังยุคทองของล้านนา ชาวต่างชาติที่เข้ามาอาศัยอยู่ในล้านนา โดยเฉพาะชาวพม่า ไทใหญ่ และชาวมอญ จากประเทศพม่า ซึ่งนับถือศาสนาพุทธ มีการสร้างวัดขึ้นหลายแห่งในจังหวัดต่างๆ (เรียกตามภาษาพม่าว่า “เจาว์” หรือ “จอง” แปลว่า วัด) มีลักษณะแตกต่างจากสถาปัตยกรรมแบบอย่างล้านนาอย่างสังเกตได้ชัดเจน โดยเฉพาะรูปทรงอาคาร และลักษณะหลังคาซ้อนชั้น แม้บางแห่งจะมีการผสมผสานองค์ประกอบตกแต่งเข้าด้วยกัน วิหารแบบพม่า – มอญ และไทใหญ่ มีลักษณะใกล้เคียงกัน ทั้งการสร้างอาคารยกพื้น ซึ่งรวมการใช้สอยหลายส่วนเข้าด้วยกัน ทั้งวิหาร ศาลาการเปรียญและกุฏิสงฆ์ โดยแยกอุโบสถและหอธรรมออกต่างหาก ส่วนรูปทรงหลังคาวิหาร สังเกตได้จากการมีหลังคาซ้อนชั้นลดหลั่นขึ้นไป อาจเป็นหลังคาจั่วหรือปั้นหยาที่มีมุขหลังคาแบบตรีมุขหรือจัตุรมุข และบนสันหลังคาอาจมียอดแหลมแบบฉัตรซ้อนชั้นครอบอยู่ รวมทั้งมีการประดับตกแต่งลวดลายประดับผนังภายนอก ผนังระหว่างชั้นหลังคาและฝ้าเพดานเป็นลวดลายอยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมจัตุรัสหรือสี่เหลี่ยมย่อมุม และมีการประดับลวดลายปิดทองและกระจกสีรอบเสาภายในอาคาร เป็นต้น

ส่วนข้อแตกต่างสังเกตได้จากรายละเอียดการประดับตกแต่งองค์ประกอบสำคัญ เช่น ลักษณะและจำนวนมากน้อยของหลังคาซ้อนชั้น วัสดุที่ใช้ทาลวดลายตกแต่งหลังคาและตัวอาคาร รูปสัญลักษณ์ที่สำคัญ และการจัดอาสนะของพระสงฆ์ภายในวิหาร เป็นต้น นอกจากนี้ บางวัดมีการสร้างสถาปัตยกรรมโดยได้รับอิทธิพลศิลปะจากหลายแหล่ง ทั้งพม่า ตะวันตก และจีน ตลอดจนไทลื้อ ที่ผสมผสานกันอย่างสวยงาม

อิทธิพลมอญ-พม่า-ไทใหญ่

วิหาร วัดจอมสวรรค์ อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๗ โดยชาวไทใหญ่จากพม่าที่เข้ามาค้าขายในเมืองแพร่ สร้างด้วยไม้สักทองทั้งหลัง หลังคาซ้อนชั้นลดหลั่น มีลวดลายปลายปั้นลม และไม้ปิดอกไก่แบบพม่า หน้าบันและผนังสลับด้วยหลังคาซ้อนชั้น ประดับลวดลายย่อมุม ไม้บนฝาไม้กระดาน ภายในวิหาร เสาและฝ้าเพดาน ประดับลวดลายไม้แกะสลักปิดทองร่องชาดและร่องกระจกสี บันไดประดับลวดลายปูนปั้นและไม้ระแนงราวระเบียงตกแต่งเป็นลวดลาย
วิหาร วัดศรีรองเมือง อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง สร้างโดยคหบดีชาวพม่า ปี พ.ศ. ๒๔๔๗ ชั้นล่างก่ออิฐถือปูน ชั้นบนสร้างด้วยไม้สักทอง
วิหาร วัดนันตาราม อำเภอเชียงคา จังหวัดพะเยา สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๘ สร้างด้วยไม้สักทั้งหลัง หลังคาซ้อนชั้นทรงเครื่องแบบไทใหญ่ ผนังด้านนอกประดับลวดลายย่อมุมไม้บนฝาไม้กระดานภายในวิหาร เสากลมลงรักปิดทอง หัวเสาผนังและฝ้าเพดานประดับลวดลายไม้แกะสลักปิดทองล่องชาดและร่องกระจกสี
ปราสาทพระวิหาร วัดศรีชุม จังหวัดลำปาง หลังคาซ้อนชั้นประดับยอดปราสาท ตกแต่งลวดลายผสมผสานศิลปะพม่า ล้านนา ตะวันตก สร้างในปี พ.ศ. ๒๔๔๓ – ๒๔๔๔ แต่ถูกไฟไหม้เสียหายในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ ปัจจุบันได้รับการบูรณะแล้ว
หอธรรมไม้สัก วัดศรีบุญโยง จังหวัดลำปาง หลังคาซ้อนชั้นแบบพม่าหลังเดิม สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๕๑ แต่ภายหลังทรุดโทรมมาก จึงได้รื้อลงไป และสร้างหลังปัจจุบันขึ้นใหม่ตามแบบเดิมในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ ส่วนหลังเดิม ถูกรื้อย้ายไปที่วัดพระเจ้าทันใจ อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง ต่อมาซ่อมแซมใหม่แล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๕๔๐
วิหารพระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ประดิษฐานพระเจ้าพาราละแข่ง จำลองแบบจากพระมหามุนี เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า เป็นวิหารทรงจัตุรมุขซ้อนชั้น ๒ หลัง ประดับยอดโดมและยอดปราสาท ประดับปั้นลมและปลายชายคาหลังคาทุกชั้น ด้วยสังกะสีฉลุลวดลายแบบไทใหญ่่ มีความโดดเด่นด้วยสีเข้มของหลังคาวัสดุมุงและสีเนื้อไม้ของผนังอาคารด้านนอกที่ประดับลวดลายย่อมุมไม้บนฝาไม้กระดาน

อิทธิพลล้านนา-พม่า-ตะวันตก-จีน-ไทลื้อ

มณฑป วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง รูปทรงแบบพม่า ตั้งอยู่ด้านทิศใต้ของเจดีย์ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป มีลวดลายประดับอาคารวิจิตรงดงาม มีการผสมผสานทั้งศิลปะล้านนา พม่า มอญ และตะวันตก
วัดเกตการาม อำเภอเมืองจังหวัดเชียงใหม่ สร้างขึ้นปี พ.ศ. ๑๙๗๑ อาคารต่างๆ ทรุดโทรมไปตามกาลเวลา จึงมีการบูรณะขึ้นใหม่ภายหลัง ทำให้รูปแบบสถาปัตยกรรมและงานศิลปะได้รับอิทธิพลผสมผสานจากล้านนา จีน พม่า และตะวันตก
วิหารจัตุรมุขบูรพาจารย์ (วิหารสี่ครูบา) วัดเจดีย์หลวง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ สร้างปี พ.ศ. ๒๕๔๙ เป็นวิหารทรงมณฑปจัตุรมุขได้รับอิทธิพลจากรูปแบบวิหารวัดปงสนุกจังหวัดลำปาง แต่มีขนาดใหญ่กว่า และยื่นมุขหลังคาจั่วด้านหน้ายาวออกคลุมทางลาดขึ้นสู่วิหาร ประดับรูปปูนปั้นตัวมอมสองข้าง
วิหารพระเจ้าพันองค์ วัดปงสนุกอำเภอเมือง จังหวัดลำปาง สันนิษฐานว่าสร้างหรือบูรณะในช่วงยุคทองของล้านนา และบูรณะครั้งใหญ่ในปี พ.ศ. ๒๔๒๙ ลักษณะเป็นวิหารโถงทรงมณฑปจัตุรมุขขนาดค่อนข้างเล็ก ประดับยอดหลังคาทรงพีระมิดซ้อนชั้น ซึ่งได้รับอิทธิพลจากรูปแบบสถาปัตยกรรมไทลื้อ ตามความเชื่อสืบกันมาว่าได้รับต้นแบบจากหอคำเมืองเชียงเกี๋ยงในสิบสองปันนา ประเทศจีน รูปแบบนี้ยังส่งอิทธิพลต่อสถาปัตยกรรมยุคหลังอีกหลายแห่ง

ที่มา: หนังสือสถาปัตยกรรมล้านนา
ภาพลายเส้น: นิธิ สถาปิตานนท์
ภาพถ่าย: วีระพล สิงห์น้อย / รุ่งกิจ เจริญวัฒน์ / สถาปนิก 49