ในช่วงยุคทองของอาณาจักรล้านนา มีเจดีย์บางแห่งที่มีรูปแบบพิเศษ แสดงถึงอิทธิพลจากต่างถิ่นอย่างชัดเจน โดยไม่ได้รวมเข้าในกระบวนการพัฒนารูปแบบสถาปัตยกรรมล้านนา กล่าวคือ ไม่รวมอยู่ในกลุ่มเจดีย์ ๒ รูปแบบหลัก ได้แก่ เจดีย์ทรงปราสาทและเจดีย์ทรงระฆัง ที่พัฒนาการมาเป็นแบบอย่างพื้นเมือง มีรูปลักษณ์แสดงถึงต้นแบบที่มาจากภายนอกอาณาจักรล้านนาอย่างชัดเจน เช่น เจดีย์เจ็ดยอด ที่ได้รับอิทธิพลจากอินเดีย และเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ที่ได้รับอิทธิพลจากสุโขทัย แต่รูปแบบเจดีย์เหล่านี้มีจำนวนไม่มากนัก เมื่อเทียบกับรูปแบบเจดีย์ที่ได้รับอิทธิพลจากพม่าในยุคหลัง เช่น เจดีย์ทรงกู่เต้าและเจดีย์ทรงระฆังแบบพม่า – มอญ ซึ่งมีการสร้างเป็นจำนวนมากในล้านนา
อิทธิพลจากอินเดีย
รูปแบบเจดีย์ที่ได้รับอิทธิพลทางพุทธศาสนาจากศิลปะอินเดียอย่างชัดเจนที่สุด คือ เจดีย์เจ็ดยอด เป็นเจดีย์ก่อด้วยศิลาแลง ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปจำลอง ที่สร้างขึ้นในช่วงยุคทองของอาณาจักรล้านนา เมื่อครั้งมีการสังคายนาพระธรรมวินัยเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ในปี พ.ศ. ๒๐๒๐ พญาติโลกราชทรงส่งพระสงฆ์ไปจำลองแบบจากวิหารมหาโพธิ์ เมืองพุกาม ซึ่งพม่าได้สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ ๑๘ โดยถ่ายทอดมาจากรูปแบบพระมหาโพธิเจดีย์ (พระมหาเจดีย์พุทธคยา) ประเทศอินเดีย โดยมีการปรับปรุงแบบบางส่วน เช่น การเพิ่มเจดีย์ทรงระฆังอีกสององค์ด้านหน้าจึงรวมเป็นเจ็ดยอด จากต้นแบบทั้งสองแห่งที่มีเพียงห้ายอด ส่วนฐานประทักษิณประดับรูปปูนปั้นเทวดายืนและนั่งในแต่ละด้าน มีช่องคั่นด้วยเสาติดผนังซ้อนสองชั้น ภายในประดิษฐานพระพุทธรูป
อิทธิพลจากสุโขทัย
ในช่วงยุคทองของอาณาจักรล้านนา มีการอัญเชิญพระสุมนเถระจากสุโขทัยมาเผยแผ่ศาสนาพุทธนิกายเถรวาทลังกาวงศ์ จึงได้รับอิทธิพลจากสุโขทัย คือ เจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ที่มีรูปทรงแบบดอกบัวตูม ซึ่งมีจำนวนไม่มากนักในล้านนา ปัจจุบันเหลืออยู่เพียงองค์เดียว มีสภาพเป็นโบราณสถาน
อิทธิพลจากพม่า
เจดีย์ทรงระฆังแบบมอญ – พม่า ที่พัฒนามาตั้งแต่สมัยพุกาม มีองค์ประกอบที่เหมือนกัน คือ องค์ระฆังมีลวดลายรัดอกและบัวคอเสื้อ ไม่มีบัลลังก์รับส่วนยอด และส่วนยอดมีปัทมบาทคั่นระหว่างปล้องไฉนกับปลียอด ส่วนความแตกต่างขององค์ประกอบสำคัญที่มีข้อสังเกตได้ค่อนข้างชัดเจน ระหว่างเจดีย์แบบมอญกับเจดีย์แบบพม่าแท้ เช่น ส่วนฐานประทักษิณ รายละเอียดของส่วนประดับในแต่ละชั้นขององค์เจดีย์ และสัดส่วนของส่วนปลียอดต่อมาในสมัยอมรปุระ-มัณฑะเลย์ มีการพัฒนารูปแบบเจดีย์ทรงระฆัง โดยการผสมผสานรูปแบบพม่า – มอญเข้าด้วยกัน และไม่มีการเจาะช่องสี่เหลี่ยมในชั้นท้องไม้ของส่วนฐาน นอกจากนี้ ยังมีรูปแบบเจดีย์ทรงปราสาทแบบพม่า เรียกว่า “เจติยวิหาร” หรือ “กู่ปายา” เป็นรูปแบบสืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยพุกามมาจนถึงสมัยอมรปุระ-มัณฑะเลย์ ส่วนเรือนธาตุจะเป็นวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปที่เข้าไปสักการะภายในได้ เจดีย์ลักษณะนี้ในล้านนาจะทำเพียงซุ้มโขงที่ประดิษฐานพระพุทธรูปในซุ้มเท่านั้น ไม่สามารถเข้าไปภายในได้
ที่มา: หนังสือสถาปัตยกรรมล้านนา
ภาพถ่าย: วีระพล สิงห์น้อย / รุ่งกิจ เจริญวัฒน์