Posted on

วิหารและอุโบสถล้านนา

วิหาร อาคารสำหรับพระสงฆ์ประกอบพิธีทางศาสนาที่มีชาวบ้านเข้ามาร่วมด้วย การสร้างวิหารในล้านนามีสืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยเริ่มรวบรวมดินแดนของพญามังราย เจตนารมณ์ในการสร้างวิหาร เช่น เพื่อให้เป็นที่ตั้งแห่งพระรัตนตรัยเพื่อสืบทอดพระศาสนา เพื่อปรารถนาพุทธภูมิหรือเพื่อเป็นหนทางแห่งการรอดพ้นจากอบายภูมิ รูปแบบวิหารแบ่งตามลักษณะฝาผนังโดยรอบ ๒ รูปแบบ คือ วิหารเปิด (วิหารโถง) และวิหารปิด และยังแบ่งตามลักษณะผังอาคารเป็น ๔ รูปแบบ คือ ทรงพื้นเมือง ทรงโรง ทรงปราสาทและทรงจัตุรมุข

อุโบสถ หรือ โบสถ์ เป็นอาคารสำหรับพระภิกษุทำสังฆกรรม เช่น สวดปาฏิโมกข์ หรือการบรรพชา มีรูปแบบคล้ายกับวิหารแต่ขนาดเล็กกว่า ข้อแตกต่างจากวิหาร คือ อุโบสถต้องมีการกำหนดขอบเขตเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เช่น ใช้ “ใบเสมา” ทำด้วยแท่งหินปักที่พื้นรอบอุโบสถ โดยใช้ “กำแพงแก้ว” คือกำแพงเตี้ยล้อมรอบอุโบสถ หรือใช้ “อุทกสีมา” คือคูน้ำล้อมรอบหรือตั้งอุโบสถกลางสระน้ำ บางวัดไม่มีอุโบสถเนื่องจากในอดีตกลุ่มวัดในละแวกใกล้เคียงนิยมทำสังฆกรรมร่วมกันในอุโบสถของวัดใดวัดหนึ่ง เรียกว่า “หมวดอุโบสถ”

วิหารวัดไหล่หินหลวง จังหวัดลำปาง
วิหารพระนางจามเทวี วัดปงยางคก จังหวัดลำปาง
วิหารลายคำและอุโบสถสองสงฆ์ วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่

การจัดพื้นที่ภายในวิหารและอุโบสถ

วิหารและอุโบสถ มีแผนผังยาวตามแนวแกนทิศตะวันออก – ตะวันตก มีที่ประดิษฐานพระประธานบริเวณช่วงเสาท้ายสุดของอาคาร โดยหันพระพักตร์ไปทางด้านหน้าประตูทางเข้า ซึ่งเป็นทิศตะวันออก ผนังตรงกับหน้าบันด้านหลังอาคารก่อทึบเพื่อเป็นพื้นหลังพระพุทธรูป และมักตกแต่งด้วยลวดลาย เช่น การเขียน “ลายคำ” เป็นรูปต้นพระศรีมหาโพธิ์และลายประกอบอื่นๆ

ภายในอาคารอาจทำซุ้มโขงครอบอีกชั้นหนึ่งและประดิษฐานพระพุทธรูปไว้ภายในเป็นแบบคันธกุฎีในวิหาร หรือวิหารทรงปราสาทที่มีการเจาะผนังด้านหลังเป็นซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปยื่นเข้าไปในปราสาทท้ายวิหาร อาคารตามยาวบางหลังมีพื้นที่กิจกรรมสองด้าน จึงมีซุ้มโขงช่วงกลางอาคารประดิษฐานพระพุทธรูปหันออกไปสองด้าน เพื่อแยกกิจกรรมออกจากกัน เช่น อุโบสถสองสงฆ์ วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งในอดีตสร้างไว้สำหรับแยกการประกอบพิธีสงฆ์ระหว่างภิกษุกับภิกษุณี

นอกจากนี้ ในวิหารทรงจัตุรมุขมีการประดิษฐานพระพุทธรูปประธาน ๔ องค์ ไว้บริเวณจุดศูนย์กลางอาคาร โดยหันพระพุทธรูปออกไปทั้ง ๔ ทิศของตัวโถง ประดับด้วยต้นพระศรีมหาโพธิ์แบบสามมิติไว้ตรงกลางหลังพระประธานทั้ง ๔ องค์ ทำให้โถงสามารถประกอบกิจกรรมได้พร้อมกันทั้ง ๔ ด้าน ตามรูปแบบผังอาคาร พื้นที่ว่างด้านหน้าพระพุทธรูปประธานนับจากประตูด้านหน้าเข้าไป จะใช้สำหรับทำกิจกรรม เช่น ในอุโบสถใช้เป็นที่ประกอบพิธีกรรมของสงฆ์ ส่วนในวิหารใช้เป็นที่ประกอบกิจกรรมระหว่างพระสงฆ์และฆราวาส ภายในวิหารยังมี “อาสนะสงฆ์” สำหรับพระสงฆ์นั่งประกอบพิธีบุญต่างๆ เป็นแท่นตามยาวยกระดับสูงจากพื้นไว้ชิดผนังด้านขวาของพระพุทธรูปประธาน ส่วนฆราวาสนั่งในระดับพื้นอาคาร เมื่อมีกิจกรรมการแสดงธรรม ฟังธรรม จะมีที่นั่งพระสงฆ์สำหรับแสดงธรรมวางไว้ด้านหนึ่ง เรียกว่า “ธรรมาสน์” ในบางวัดจะออกแบบรูปทรงคล้ายประสาทพระ มีฐานสูง เสาและหลังคา แต่จะมีอาสนะให้พระสงฆ์นั่งแสดงธรรมได้

อุโบสถวัดพระแก้ว จังหวัดเชียงราย พระพุทธรูปประธาน มีฐานรองรับเรียกว่า “ฐานชุกชี” เป็นฐานก่ออิฐถือปูนลอยตัวประดับลายปูนปั้น โดยมีฐานต่อเนื่องทางด้านข้างทั้งสอง แนบขนานไปกับผนังด้านหลังเพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปขนาบข้าง
วิหารพระเจ้าพันองค์ วัดปงสนุก จังหวัดลำปาง

ที่มา: หนังสือสถาปัตยกรรมล้านนา
vernadoc: รุ่งกิจ เจริญวัฒน์
ภาพถ่าย: วีระพล สิงห์น้อย / รุ่งกิจ เจริญวัฒน์