องค์ประกอบสถาปัตยกรรมของอาคารพื้นเมืองล้านนา เช่น รูปทรงอาคาร หลังคา ระบบโครงสร้าง ผนัง ช่องเปิด บันได และส่วนประกอบอื่นๆ พัฒนาสืบทอดกันมาเป็นเอกลักษณ์ตามความเชื่อและวิถีชีวิตในท้องถิ่น
อาคารชั้นสูง เช่น พระราชวัง หอคำ (คุ้มหลวง) และอาคารสำคัญทางศาสนา เช่น วิหาร อุโบสถ มีลักษณะคล้ายกันขององค์ประกอบโครงสร้างที่สัมพันธ์กับผังพื้น คือ ระบบเสาและโครงหลังคา ผังอาคารมีแนวแกนเดียวตามยาว โดยมีด้านหน้า – หลังอยู่ในด้านสกัด
รูปทรงอาคารและระบบเสาของอาคารพื้นเมืองล้านนา มีการยกเก็จเพิ่มมุมเสาด้านข้าง ด้วยการใช้เสาคู่ในแนวริมนอก บริเวณที่มีการเพิ่มมุมให้มีรูปทรงป่องออกช่วงกลางอาคารคล้ายลำเรือ โดยการใช้เสาคู่เพื่อเพิ่มระยะช่วงเสาให้กว้างขึ้น เสาแนวริมนอก ๒ ข้าง ที่ต้องมีการเพิ่มมุม มีหน้าตัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ส่วน “เสาหลวง” ๒ แนวตามยาว มีหน้าตัดกลมหรือแปดเหลี่ยม
หลังคาเป็นทรงจั่ว มี “ไขรา” (ชายคากันสาด) ซ้อนใต้ระนาบหลังคาจั่วทั้งสองข้าง ๑ – ๒ ชั้น ตามความกว้างของอาคาร โดยการเพิ่มแนวเสาตามยาวออกไป และมีการซ้อนชั้นลดหลั่นระดับของหลังคาจั่ว – ไขราที่สอดคล้องกับแนวยกเก็จของระบบเสาด้วย คือ ด้านหน้าลดระดับหลังคาจั่ว – ไขรา จากช่วงกลางอาคาร ลงอีก ๒ ชั้น และด้านหลังลดระดับลง ๑ ชั้น
ระบบโครงไม้รับหลังคาใช้ระบบโครงสร้างไม้ค้ำ เรียกว่า “ม้าต่างไหม” ทุกๆ ช่วงเสาตามแนวขวางมีไม้ดั้งและขื่อวางซ้อนทับเป็นรูปสี่เหลี่ยมลดหลั่นขนาดขึ้นไป เปรียบเทียบกับลักษณะการวางสินค้าผ้าไหมซ้อนทับกันบนหลังม้าในอดีต หลังคาจั่วทำระนาบหลังคาซ้อนเหลื่อม ๓ ระดับ ตามการลดส่วนของช่วงเสา และมักไม่ปิดบังโครงสร้างด้วยฝ้าเพดาน แต่เปิดโล่งเน้นให้เห็นทุกชิ้นส่วน โครงสร้างหลังคาที่จัดวางและตกแต่งอย่างประณีตสวยงาม ส่วนชายคาปีกนกมีค้ำยันรองรับทำด้วยไม้แกะสลักเป็นรูปนาค หรือรูปสัตว์หิมพานต์อื่นๆ เรียกว่า “ทวย” หรือ “ทวยนาคตัน”
นอกจากรูปแบบอาคารทรงพื้นเมืองแล้ว ยังมี “ทรงโรง” หมายถึง ผังอาคารมีแนวแกนเดียวตามยาว มีด้านหน้า – หลังอยู่ในด้านสกัด เช่นเดียวกับทรงพื้นเมือง แต่แนวเสาด้านข้างตรงกันตลอดแนว ทำให้มีผนังด้านข้างเรียบรองรับหลังคาจั่วซ้อนชั้น คล้ายกับหลังคาในทรงพื้นเมืองแต่ลดหลั่นระดับตามแนวดิ่ง โดยไม่เพิ่มความกว้างในช่วงกลางอาคาร เป็นรูปแบบที่ได้รับอิทธิพลจากภาคกลางในสมัยรัตนโกสินทร์
ส่วนผังอาคารที่มี ๒ แนวแกนตัดตั้งฉากกัน ทำให้หลังคารูปทรงอื่นๆ ได้แก่ ทรงตรีมุข ที่อาคารมีแนวแกนหลักตามยาวเป็นด้านหน้า – หลัง โดยยื่นมุขหลังคายื่นออกทางด้านหน้าอีกแกนหนึ่งในช่วงกลางอาคาร และทรงจัตุรมุข ที่อาคารมี ๒ แนวแกนตัดกันเป็นกากบาท โดยยื่นหน้าจั่วหลังคาออกทั้ง ๔ ด้าน รวมทั้งอาคารที่มีหลังคาทรงมณฑปซ้อนชั้นอยู่บนหลังคาจัตุรมุข หรือรูปแบบจั่วซ้อนชั้นแบบพม่า – ไทใหญ่ ซึ่งสร้างมากขึ้นในระยะหลัง
ที่มา: หนังสือสถาปัตยกรรมล้านนา
isometric: คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร / อ.เกรียงไกร เกิดศิริ
ภาพถ่าย: รุ่งกิจ เจริญวัฒน์ / วีระพล สิงห์น้อย