Posted on

พุทธเจดีย์ในดินแดนล้านนา ตอน ๒ “เจดีย์ทรงระฆัง”

ช่วงยุคทองของอาณาจักรล้านนา มีการสร้างวัดและพระธาตุเจดีย์เป็นจำนวนมาก รวมทั้งบูรณปฏิสังขรณ์ศาสนสถานที่สร้างในยุคก่อนหน้าหลายแห่ง ทั้งในเมืองเชียงราย ลำพูน และลำปาง รูปแบบเจดีย์ได้รับการพัฒนาปรับปรุงสัดส่วนองค์ประกอบต่างๆ ถึงขีดสุด จนเป็นแบบอย่างเจดีย์พื้นเมืองของล้านนาที่มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นอย่างชัดเจน โดยมีทั้งเจดีย์ทรงปราสาทที่มีความเชื่อมโยงกับรูปแบบเจดีย์ทรงปราสาทของล้านนาตอนต้น และเจดีย์ทรงระฆัง อีก ๒ รูปแบบ คือ รูปแบบที่มีองค์ประกอบเชื่อมโยงกับเจดีย์ทรงระฆังแบบพุกามและเจดีย์ ทรงระฆังแบบสุโขทัย เมื่อขยายขอบเขตอาณาจักรกว้างขวางออกก็ได้แผ่อิทธิพลรูปแบบสถาปัตยกรรมไปยังเมืองต่างๆ ของล้านนา รวมถึงอาณาจักรล้านช้าง

เจดีย์ทรงระฆังล้านนายุคทองแบบที่ ๑ มีลักษณะเชื่อมโยงกับเจดีย์ทรงระฆังแบบพุกาม (พุทธศตวรรษที่ ๑๖ – ๑๘) โดยผสมผสานทั้งแบบพม่าแท้และแบบที่ได้รับอิทธิพลจากลังกา ลักษณะสำคัญ คือ เจดีย์พุกามแบบพม่าแท้มีบัวซ้อนชั้นรับองค์ระฆังประดับลายกลีบบัว คั่นด้วยชั้นท้องไม้เจาะช่องสี่เหลี่ยม องค์ระฆังมี รัดอก และมีบัวปากระฆัง ส่วนฐาน ประทักษิณ ในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัสเพิ่มมุม ซึ่งมีบันไดขึ้นไปยังซุ้มประตู และประดับเจดีย์ขนาดเล็กประจำมุม (สถูปิกะ) ส่วนเจดีย์ที่ได้รับอิทธิพลจากลังกา มีชุดบัวลูกแก้ว ๓ ชั้นในผังกลม รับองค์ระฆังที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ มีบัลลังก์สี่เหลี่ยมจัตุรัส เจดีย์ล้านนามีการผสมผสานองค์ประกอบการทำฐานบัวในฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสเพิ่มมุมและยืดทุกสัดส่วนให้สูงเพรียว

เจดีย์ทรงระฆังล้านนาในยุคทองที่มีลักษณะเชื่อมโยงกับเจดีย์ทรงระฆังแบบสุโขทัย ที่ได้รับอิทธิพลจากเจดีย์ของลังกาและอินเดีย เน้นองค์ระฆังขนาดใหญ่ มีบัวปากระฆังและมาลัยเถาแบบบัวถลา ซ้อนหลายชั้นรับองค์ระฆัง และเจดีย์บางองค์มีฐาน “ช้างล้อม” การพัฒนาการมาเป็นเจดีย์ล้านนารูปแบบนี้มีลักษณะสำคัญคือ สัดส่วนองค์ระฆังมีขนาดเล็กลง อยู่บนส่วนฐานที่ผายกว้างออกและปรับมุมเป็นแปดเหลี่ยมในส่วนฐานบัวรับองค์ระฆัง ซึ่งคั่นระหว่างฐานสี่เหลี่ยมตอนล่างกับองค์ระฆังและมาลัยเถาในผังกลมตอนบน ส่วนฐานบัวและฐานเขียงตอนล่างอยู่ในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัสแบบเพิ่มมุม

การสร้างพุทธเจดีย์ในดินแดนล้านนา
เจดีย์พระบรมธาตุหริภุญไชย จังหวัดลำพูน
เจดีย์วัดพระธาตุลำปางหลวง จังหวัดลำปาง
เจดีย์วัดอุโมงค์สวนพุทธธรรม จังหวัดเชียงใหม่
เจดีย์วัดสวนดอก จังหวัดเชียงใหม่
เจดีย์กลม วัดอินทขีลสะดือเมือง จังหวัดเชียงใหม่
เจดีย์วัดปันเสา จังหวัดเชียงใหม่
เจดีย์วัดป่าแดงหลวง จังหวัดเชียงใหม่
เจดีย์วัดช้างค้ำ จังหวัดน่าน

ที่มา: หนังสือสถาปัตยกรรมล้านนา
ภาพลายเส้น: ผศ. รัฏฐา ฤทธิศร
ภาพถ่าย: วีระพล สิงห์น้อย / รุ่งกิจ เจริญวัฒน์