Posted on

ฝาตั้ง ฝาตาก ฝาแป้นหลั่น ฝาไม้บั่ว

ฝาผนัง มีลักษณะเป็นแผงประกอบสำเร็จ ก่อนติดตั้งทับด้านนอกแนวเสา ยาวต่อเนื่องไปตลอดแนวอาคาร โดยวางบนหัวของแวงและตง ที่ยื่นออกมารับแต่ละด้าน ประกอบด้วยกรอบไม้โดยรอบที่เซาะร่องเป็นรางสำหรับวางแผ่น “ลูกกรุ” ซึ่งมีทั้งวัสดุ แผ่นกระดานไม้จริง เรียกว่า “ฝาไม้แป้น” และไม้ไผ่ เรียกว่า “ฝาไม้บั่ว”

“ฝาไม้แป้น” มีรูปแบบต่างๆ เช่น “ฝาตาผ้า” แบ่งกรอบซอยภายในตามแบบแผนมีกรอบตามแนวตั้งเป็นหลักและกรอบแนวนอนภายในอีก ๒ แนวใกล้ขอบบน – ล่าง แบ่งช่องลูกกรุตามตั้งออกเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาวตามตั้งในช่วงกลาง และสี่เหลี่ยมเล็กในแถวบน – ล่าง เซาะร่องกรอบไม้เป็นรางเพื่อบรรจุลูกกรุเข้าลิ้นแยกในแต่ละช่อง และติด “เล็บ” หรือคิ้วไม้ประกับภายในช่องกรอบย่อยโดยรอบอีกชั้นหนึ่ง ใช้กับเรือนคหบดี เช่น เรือนกาแล แบบที่ ๒ เรียกว่า “ฝาตั้ง” วางเรียงลูกกรุตามตั้ง รอยต่อชน แบบที่ ๓ เรียกว่า “ฝาแป้นหลั่น” วางเรียงลูกกรุตามตั้ง รอยต่อแบบบังใบ “ฝาตั้ง” และ “ฝาแป้นหลั่น” นี้ไม่มีแบบแผนตายตัวในการจัดแนวไม้คิ้วทับแนว เช่น ไม้คิ้วทับแนวตามระยะช่วงเสา ไม้คิ้วทับรอยต่อลูกกรุตามตั้งทุกแนว หรือจัดไม้คิ้วตามตั้ง – ตามนอนเป็นรูปแบบต่างๆ อย่างอิสระ และอาจมีหรือไม่มีไม้คิ้วปิดทับลูกกรุทางด้านนอกของฝาก็ได้ แบบสุดท้าย คือ “ฝาตาก” เป็นฝาที่มีระนาบเอียง โดยผายส่วนบนให้เอนออก ไม่ตั้งแนวดิ่งเช่นฝาโดยทั่วไป มีเฉพาะในฝาด้านยาวของตัวเรือนบางหลัง ส่วน “ฝาไม้บั่ว” ใช้เฉพาะบางส่วนที่อยู่ด้านในเรือนหรือครัว มีรูปแบบ “ลายสอง” และ “ลายขัดตาน”

ฝาตั้ง วางเรียงลูกกรุตามตั้ง รอยต่อชน
ฝาตาก มีระนาบเอียง ส่วนบนผายเอนออก ไม่ตั้งดิ่งเช่นฝาทั่วไป มีเฉพาะฝาด้านยาวของเรือนบางหลัง
ฝาแป้นหลั่น วางเรียงลูกกรุตามตั้งรอยต่อแบบบังใบ ไม่มีแบบแผนตายตัวในการจัดแนวไม้คิ้วทับแนว เช่น ไม้คิ้วทับแนวตามระยะช่วงเสา ไม้คิ้วทับรอยต่อลูกกรุตามตั้งทุกแนว หรือจัดไม้คิ้วตามตั้งตามนอนเป็นรูปแบบต่างๆ อย่างอิสระ และอาจมีหรือไม่มีไม้คิ้วปิดทับลูกกรุทางด้านนอกของฝาก็ได้
ฝาไม้บั่ว ใช้เฉพาะบางส่วนที่อยู่ด้านในเรือนหรือครัว มีรูปแบบลายสองและลายขัดตาน

ที่มา: หนังสือสถาปัตยกรรมล้านนา
ภาพถ่าย: รุ่งกิจ เจริญวัฒน์ / สถาปนิก 49