“ไปพักผ่อนในที่ที่มีอากาศดี” คือนิยามของคำว่า “ตากอากาศ” นอกจากสถานที่พักตากอากาศ ประเภทโรงแรม รีสอร์ต หรือโฮมสเตย์แล้ว หลายครอบครัวเลือกที่จะลงทุนปลูกสร้าง “บ้านพักตากอากาศ” ไว้เป็นของตัวเอง เพื่อการพักผ่อนหย่อนใจและดื่มด่ำรับบรรยากาศจากธรรมชาติแวดล้อมอย่างเป็นส่วนตัว
ชวนอ่านไอเดียการออกแบบบ้านพักอากาศ 4 หลัง จาก 4 สถาปนิก ที่มีคาแรกเตอร์พิเศษ และยังคงกลมกลืนไปกับบริบทแวดล้อมได้อย่างลงตัว
Alive among the tall tree, sea and sand
ความเชื่อแรกเริ่มเกี่ยวกับสถานที่พักตากอากาศที่ไทยรับอิทธิพลมาจากชาวตะวันตกนั้นคือ การพักผ่อนใกล้ชิดธรรมชาตินั้นช่วยเยียวยาหรือบรรเทาอาการเจ็บป่วยได้ดีขึ้น เมื่อผันเปลี่ยนเข้าสู่ยุคสมัยปัจจุบัน ไม่เพียงแต่อากาศบริสุทธิ์ตามธรรมชาติที่มีผลดีต่อสุขภาพกาย แต่ความร่มรื่นของแมกไม้ เสียงคลื่นทะเล หรือทิวทัศน์ที่ปลอดโปร่ง ยังมีส่วนในการเยียวยาสุขภาพใจ ผ่อนคลายภาวะความเคร่งเครียดจากเรื่องราวต่างๆ ฉะนั้นเมื่อจะออกแบบบ้านพักตาอากาศสักหลังแล้ว การอยู่ท่ามกลางธรรมชาติจึงเป็นแนวคิดสำคัญของการออกแบบ
Horizontal House พื้นที่ห้องนั่งเล่นเชื่อมต่อกับระเบียงภายนอกขนาดใหญ่และสระว่ายน้ำความยาวประมาณ 50 เมตร จุดเด่นของสระว่ายน้ำนี้คือเพื่อบังสายตาไปยังภูเขาที่อยู่ฝั่งตรงข้ามของตัวบ้าน ออกแบบสระว่ายน้ำให้ยื่นลอยไร้เสาค้ำรับแรงออกจากเนินเขาประมาณ 6 เมตร เพื่อให้ได้ความรู้สึกเหมือนว่าลอยอยู่กลางอากาศ มีต้นไม้และภูเขาเป็นทัศนียภาพที่กำหนดไว้ให้เป็นจุดสนใจหลัก พื้นที่ส่วนนี้ถูกออกแบบให้มีความยืดหยุ่นด้านการใช้งานสูง เมื่อทำการเปิดประตูกระจกบานเลื่อนขนาดใหญ่ของห้องนั่งเล่นจะทำให้ภายในและภายนอกเชื่อมเป็นส่วนเดียวกัน เอื้อให้เกิดปฏิสัมพันธ์ด้านการใช้พื้นที่เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ยังมีห้องนอนแขกที่ออกแบบให้เป็นเสมือนพูลวิลลาที่เชื่อมต่อกับสระว่ายน้ำได้โดยตรง
Kelapa โจทย์สำคัญในการออกแบบบ้านหลังนี้ คือการอยู่กับธรรมชาติ ที่เจ้าของบ้านต้องการให้ทุกพื้นที่ใช้สอย อันประกอบด้วย ห้องนอน 6 ห้อง ห้องรับแขก ห้องอาหาร ห้องดูหนัง สระว่ายน้ำ และสปา สามารถมองเห็นกันได้และเปิดหน้ารับวิวทะเล
การร้อยเรียงลำดับการเข้าถึงบ้านหลังนี้ จึงเริ่มจากต้อนรับผู้มาเยือนด้วยกำแพงทึบขนาดสูงใหญ่ที่ปิดบังและตัดขาดบ้านออกจากโลกภายนอก เมื่อเดินผ่านความทะมึนและหนักแน่นของประตูบานเลื่อนเหล็กสีดำทึบ จะสัมผัสถึงบรรยากาศผ่อนคลายของบ้านหลังนี้ ด้วยบ่อปลาคาร์ปและสระว่ายน้ำที่ทอดตัวยาวออกไปหาวิวทะเล และเมื่อเดินไปได้ครึ่งทางของแกนสระว่ายน้ำ จะพบกับทางเดินไม้ที่วางพาดขวาง ชะลอให้เราเริ่มสำรวจสิ่งที่อยู่รายรอบ ณ จุดซ้อนทับกันนี้ องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม อาทิ ผนังสีเขียวสนิมทองแดง สระว่ายน้ำที่ลอยออก เฉลียงภายนอกที่พุ่งทแยงออกจากทางเดินคดเคี้ยว หลังคาบิดตัวไปมา และต้นมะพร้าว ได้ถูกจัดเรียงไว้เหมือนภาพคอลลาจที่สร้างความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งต่างๆ เกิดเป็นบรรยากาศที่มีความกลมกลืนระหว่างความรู้สึกพลิ้วไหวและความสงบนิ่ง
Define House ที่ดินเดิมในบริเวณนี้มีต้นไม้ใหญ่ 2 ต้น เป็นต้นมะขามใหญ่อยู่ค่อนข้างกลางที่และมีต้นไม้ใหญ่อีกต้นอยู่บริเวณติดถนน สถาปนิกจึงได้ขอเจ้าของโครงการที่จะเก็บรักษาทั้งสองต้นนี้ไว้ ด้วยมีความเชื่อว่าต้นไม้ทั้ง 2 ต้นนี้มีคุณค่า ช่วยให้ความร่มรื่น ความงาม ส่งเสริมงานสถาปัตยกรรมที่ออกแบบอย่างหาค่ามิได้ ซึ่งหากเมื่อมองจากสะพานเชื่อมอาคารจะมองเห็นอาคารทุกส่วนที่ออกแบบให้โอบล้อมตัวเอง เชื่อมด้วยสวนเรียบๆ สะอาดๆ ขนาดใหญ่ ที่มีต้นมะขามใหญ่มายืนทักทายผู้มาเยือน ปลายสายตาจะเห็นสระว่ายน้ำขนาดใหญ่ยาวตลอดที่ดินจากซ้ายไปขวา ทำหน้าที่ดึงผืนทะเลกว้างใหญ่มาเชื่อมต่อกับสระว่ายน้ำของบ้าน
Site and Form
สิ่งสำคัญที่อาจมีผลกับการออกแบบรูปทรงอาคารนั้นคือสถานที่ตั้ง ทั้งชายเขา เชิงดอย ริมทะเล หรือขนาบแม่น้ำ ฯลฯ ด้วยทั้งสภาพภูมิประเทศ รวมไปถึงข้อบังคับ หรือข้อกำหนดกฎหมายในการก่อสร้างที่มีลักษณะแตกต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่หรือแต่ละโครงการ หรือรวมไปถึงตามความเชื่อแห่งศาสตร์ฮวงจุ้ย ก็ล้วนแต่มีส่วนในการกำหนดทิศทางและรูปแบบของอาคาร ที่ต้องพิจารณาควบคู่ไปกับองค์ประกอบอื่นๆ ในการออกแบบ
Horizontal House บ้านพักตากอากาศหลังนี้ตั้งอยู่โครงการจัดสรรใกล้เขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ที่มีข้อบังคับเรื่องการออกแบบรูปร่างหน้าตาอาคารที่จะต้องให้คล้ายคลึงกับบ้านหลังอื่นๆ ที่มีอยู่เดิมภายในโครงการ มีลักษณะโชว์แถบคานและชายคา และต้องมีความสูงไม่เกิน 2 ชั้น เพื่อไม่ให้บดบังทัศนียภาพของบ้านแต่ละหลัง โดยนำลักษณะเส้นนอนคานโครงสร้างและชายของบ้านหลังอื่นๆ มาเป็นองค์ประกอบหลักของการออกแบบ เพื่อช่วยลดทอนตัวอาคาร ไม่ให้ดูใหญ่เกินไปเมื่อเทียบกับบ้านใกล้เคียง โดยให้ตัวอาคารมีลักษณะเป็นระนาบแบนยาวที่ถูกเน้นด้วยเส้นนอนของคานและชายคาสีขาว เพื่อให้เป็นจุดเด่นตัดกับเส้นขอบฟ้าและภูเขาโดยรอบ และยังช่วยบังแดดและฝน เข้ากับภูมิอากาศร้อนชื้นของประเทศไทย
Gliding Villa บ้านพักตากอากาศสไตล์โมเดิร์นทรอปิคัลหลังนี้ ตั้งอยู่บนที่ดินผืนใหญ่ปลายสุดถนนโครงการ แวดล้อมด้วยทิวเขาสวยงามใกล้อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ด้วยตำแหน่งของที่ดินและถนนทางเข้าที่ไม่เป็นไปตามหลักฮวงจุ้ยที่ดี จึงใช้วิธีการจัดวางผังอาคารที่ช่วยแก้ไขทิศทางดังกล่าว โดยแบ่งการวางตัวอาคารออกเป็น 2 ฝั่ง ซ้ายและขวา เพื่อเปิดพื้นที่ตรงกลางซึ่งตรงกับถนนทางเข้าด้านหน้าให้เป็นพื้นที่โล่งกว้าสำหรับปลูกต้นไม้ เกิดเป็นพื้นที่สีเขียว ซึ่งอาคารทั้ง 2 ฝั่ง สามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ และยังทำหน้าที่เป็นรั้วธรรมชาติ บังการมองเห็น เพิ่มความเป็นส่วนตัวให้กับอาคารทั้ง 2 ฝั่งอีกด้วย
Kelapa จากความประทับใจในสวนมะพร้าวบนยอดเนินเขา ที่เปิดโล่งมองเห็นหาดเฉวงกับอ่าวไทย สงบร่มรื่นด้วยร่มเงาทางมะพร้าว เป็นความประทับใจอันเป็นที่มาของแนวคิดการออกแบบ ตีความออกมาในชื่อ “Kelapa” ซึ่งเป็นภาษามลายู แปลว่า “มะพร้าว”
ความสวยงามของภาพแสงเงาใบมะพร้าว ที่มีเส้นแกนที่วางเฉียงทแยงพาดไปมา กับใบมะพร้าวที่วางซ้อนทับอย่างสมดุล ถูกแปลงมาเป็นการจัดวางอาคารเรือนกลุ่มย่อยๆ 4 กลุ่ม วางกระจายตัวอยู่ตลอดแนวเขตที่ดิน คล้ายการซ้อนทับกันของใบมะพร้าว อาคารเหล่านี้เชื่อมต่อด้วยระเบียงไม้ “Balau” (ไม้ป่าปลูกอุตสาหกรรมจากมาเลเซีย) จึงไม่ทำให้รู้สึกว่าบ้านถูกแยกออกจากกัน และยังสร้างความกลมกลืนไปกับแนวต้นมะพร้าวที่ขึ้นอยู่รอบๆ ทางเดิน ออกแบบให้สระว่ายน้ำเป็นแกนหลักนำสายตาสู่ทะเล และหลังคาที่พาดตัวเป็นเส้นเฉียงทแยงไปมา คล้ายกับส่วนของก้านใบมะพร้าว ที่เชื่อมต่อสร้างความต่อเนื่องให้กับอาคาร 2 อาคาร
Define House บ้านพักตากอากาศที่ต้องการความเรียบง่าย ทันสมัย มีความเป็นส่วนตัว และต้องการสัมผัสธรรมชาติริมทะเลให้มากที่สุด บนเงื่อนไขข้อกำหนดกฎหมายการออกแบบอาคารริมทะเล ที่กำหนดความสูงและขนาดอาคารต่างๆ ตามระยะที่ห่างจากทะเลออกมา เนื่องจากบ้านหลังนี้ ต้องการความเป็นส่วนตัวสูง การออกแบบด้านติดถนนทางเข้าจะค่อนข้างทึบ จากภายนอกจะแทบมองไม่เห็นอะไร นอกจากอาคารสูง 3 ชั้น ที่มีผนังทึบส่วนใหญ่ แต่เมื่อผ่านรั้วประตูทึบเข้ามา จะเหมือนเข้ามาสู่โลกอีกโลกหนึ่งที่มีความโปร่งโล่ง เห็นโถงโล่งสูง 2 ชั้น กว้างไร้เสา เปรียบเสมือนใต้ถุนบ้านขนาดใหญ่ไว้คอยต้อนรับผู้คนมาเยือนแบบสบายๆ ได้เป็นอย่างดี และเป็นช่องลมที่มีลมบกลมทะเลพัดผ่านตลอดเวลา
เรียงร้อยไปกับบรรยากาศผ่อนคลายท่ามกลางธรรมชาติและคุณสมบัติการอยู่อาศัยที่บ้านพึงมี อีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยเสริมให้บ้านพักตากอากาศมีความสมบูรณ์ยิ่งนั้นคือการเสริมความพิเศษเข้าไปในงานออกแบบ ให้เป็นเสมือนลูกเล่นที่ช่วยทำให้บ้านพักตากอาอาศหนังสือมีความสวยงาม โดดเด่น และสร้างเอกลักษณ์น่าสนใจ
Gliding Villa ผืนหลังคาเป็นรูปสามเหลี่ยมจำนวนสี่แผ่นประกอบกันและสอดรับกับเส้นเฉียงของขอบเขตที่ดิน หลังคาสามเหลี่ยมขนาดใหญ่นอกจากจะทำหน้าที่ป้องกันแดดและฝนแล้ว ยังเชื่อมพื้นที่ใช้สอยและมุมมองของกลุ่มอาคารทั้งหมดเข้าด้วยกัน ความโดดเด่นของมุมองศาหลังคาสลับไปมากลายเป็นเอกลักษณ์ของบ้านที่ผู้คนจดจำได้ เจาะช่องเปิดรูปสามเหลี่ยมบนหลังคาซึ่งสัมพันธ์กับตำแหน่งต้นไม้ใหญ่และสวนด้านล่าง เพื่อให้แผ่นผืนหลังคาขนาดใหญ่ดูเบาขึ้น นำแสงธรรมชาติ และสร้างบรรยากาศให้กับพื้นที่ด้านล่างภายใต้แผ่นหลังคา
Kelapa การออกแบบตกแต่งภายในคำนึงถึงความต่อเนื่องจากภายนอกสู่ภายใน โดยการนำวัสดุภายนอกเข้ามาใช้ เช่น การนำโครงสร้างสถาปัตยกรรมมาเป็นส่วนหนึ่งของความงามและกำหนดสเปซของพื้นที่ใช้สอยภายในห้อง แม้กระทั่งวัสดุตกแต่งผนัง นำไม้ Balau มาเป็นส่วนหนึ่งของการตกแต่งโดยสร้างเอกลักษณ์เฉพาะของแต่ละห้องที่ไม่ซ้ำกัน เพื่อเพิ่มความน่าสนใจ
Define House ลักษณะเด่นอีกอย่างของบ้านหลังนี้ คือ บันได ซึ่งมีอยู่หลัก 2 จุด ออกแบบอย่างเรียบง่าย ขาวสะอาดตา อันแรกเป็นบันไดภายนอก ที่แต่ละชั้นยื่นลอยออกมาจากผนัง เชื่อมเฉพาะจากชั้น 1 สู่ชั้น 2 และอีกอันเป็นบันไดหลักภายในบ้าน เชื่อมทั้ง 3 ชั้น ออกแบบให้ดูเรียบที่สุดและใช้วัสดุน้อยที่สุด นอกจากนี้ ยังออกแบบการให้แสงธรรมชาติ โดยเจาะช่องแสงเล็กๆ บนหลังคา ทำให้เกิดแสงที่พาดผ่านตกกระทบกับผนังบันได ที่ค่อยๆ เปลี่ยนองศาไปตามเวลาในแต่ละวัน รวมทั้งการออกแบบการให้แสงสว่างบริเวณบันไดในเวลาค่ำ โดยติดตั้งดวงโคมให้บริเวณนั้น ดูเป็นส่วนหนึ่งของบันไดทั้งสอง เพื่อให้เรียบและสะอาดตาที่สุด
–
Horizontal House, เขาใหญ่, สถาปนิก AAd: Ayutt and Associates design
Gliding Villa, เขาใหญ่, สถาปนิก Stu/D/O Architects
Kelapa, สมุย, สถาปนิก A49 (Phuket)
Define House, หัวหิน, สถาปนิก A49HD
–