รูปแบบเรือนพักอาศัยของคหบดีตามแบบสถาปัตยกรรมพื้นเมืองของล้านนาที่ตกทอดมาถึงปัจจุบัน มีอายุเก่าแก่ที่สุดประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๕ ประดับไม้แกะสลักลวดลาย ทั้งที่เป็นเอกลักษณ์ตามความเชื่อว่าเป็นเครื่องปกป้องสิ่งอัปมงคลไม่ให้เข้าสู่เรือน เช่น “หัมยนต์” ซึ่งเป็นไม้แกะสลักลวดลาย ติดอยู่เหนือประตูห้องนอนเจ้าของเรือน และการติดไม้ “กาแล” บนยอดปั้นลมหลังคาจั่วของเรือนกาแล รวมถึงการประดับไม้แกะสลักเพื่อความประณีตสวยงามในส่วนต่างๆ ของหลังคา ได้แก่ ไม้ปิดหัวอกไก่ ที่ติดบนยอดปั้นลมหลังคาจั่วของเรือนไม้จริง รวมทั้งเรือนกาแลบางหลังด้วย และการตกแต่งไม้แกะสลักขนาดเล็กในส่วนอื่นๆ เช่น ไม้ปิดหัวแป ที่ปิดปลายไม้แปที่ยื่นรับไม้กรอบปั้นลม ตัวเหงา ที่ปลายไม้กรอบปั้นลมทั้งสองข้าง และยางคํ้า (ปีกยาง) ที่คํ้ายันรับชายคา เป็นต้น ลวดลายประกอบ ได้แก่ ลายแม่แบบพื้นเมืองล้านนา ทั้งลายเมฆไหล ลายกระหนกล้านนา ลายพรรณพฤกษา และลายประดิษฐ์ในกรอบเรขาคณิต เช่น วงกลม สี่เหลี่ยม ตลอดจนรูปหยดนํ้า ผสมผสานเข้าด้วยกันในรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่รูปแบบเรียบง่ายของไม้ปิดหัวแปที่มีขนาดเล็ก ไปจนถึงหัมยนต์ที่มีรูปแบบสลับซับซ้อนมากขึ้น
ที่มา: หนังสือสถาปัตยกรรมล้านนา
ภาพถ่าย: วีระพล สิงห์น้อย / รุ่งกิจ เจริญวัฒน์ / สถาปนิก 49