ควบคู่ไปกับความร่มรื่นของสวน สนามหญ้า ตกหมากรากไม้ในบ้าน อีกองค์ประกอบหนึ่งที่หลายบ้านนึกถึงเป็นอันดับแรกๆ และให้ความสำคัญเมื่อเริ่มออกแบบบ้าน นั่นคือ สระว่ายน้ำ ทั้งอาจจะด้วยเรื่องของการเสริมบรรยากาศให้บ้านดูสวยงามร่มเย็น หรือด้วยเรื่องของหน้าที่การใช้งาน ที่อยากให้มีสระว่ายน้ำให้ทุกคนในบ้านไว้ออกกำลังกายก็ดี เช่นเดียวกับ “บ้านของเรา บ้านสถาปนิก” ของครอบครัวสถาปิตานนท์นี้ ที่ได้ออกแบบสระว่ายน้ำไว้ จวบจนผ่านการใช้งานมาตลอด 15 ปี
“เมื่อเริ่มออกแบบบ้าน สระว่ายน้ำก็ถูกขีดเขียนให้ผู้ในผังบริเวณบ้านตั้งแต่เริ่มต้น มีข้อสรุปที่ทุกคนยอมรับและอยากให้มีสระว่ายน้ำ ด้วยเหตุผลคือ อยากให้มีสระน้ำ อยากทำไว้ออกกำลังกาย สิ่งที่ต้องคิดคือทำอย่างไรจะได้สระว่ายน้ำที่ราคาไม่แพง ดูแลรักษาง่าย ไม่ใช้พื้นที่มาก ไม่จำเป็นต้องมีลานข้างสระ (pool deck) ใหญ่ๆ ให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย ด้วยเราไม่ได้ตั้งใจจะใช้บ้านนี้เพื่อรับรองแขกจำนวนมากอยู่แล้ว
เราได้ข้อสรุปว่า จะทำสระว่ายน้ำยาวประมาณ 1 เมตร กว้าง 2.40 เมตร เหมือนลู่ว่ายน้ำ 1 ลู่ มีความลึก 1.20 เมตร ตลอดความยาว และมีที่นั่งพักในน้ำตลอดความยาวของสระด้วย โดยวางตำแหน่งสระว่ายน้ำหลบไว้ข้างหนึ่งของสนามหญ้าติดกับตัวบ้านทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ โดยหันด้านแคบทางทิศเหนือ-ใต้ ทำให้เหลือพื้นที่สนามเป็นชิ้นเป็นอันไว้ให้ลูกหลานวิ่งเล่นเตะฟุตบอลได้ ซึ่งบริเวณริมสระว่ายน้ำนี้จะต้องไม่ปลูกต้นไม้ใหญ่ เพื่อให้แสงแดดส่องลงถึงพื้นดินตลอดความยาวของสระ เพื่อให้บริเวณสระว่ายน้ำได้แสงแดดมากที่สุดในช่วงเวลาบ่าย ซึงการจัดวางสระว่ายน้ำแบบนี้ ทำให้น้ำในสระอุ่นทั้งวัน เหมาะแก่การว่ายน้ำ”
เมื่อวางผังกำหนดสระว่ายน้ำแล้ว สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงคือเรื่องระบบที่ใช้กับสระว่ายน้ำ ด้วยนับว่าเป็นตัวแปรสำคัญที่จะมีผลต่อค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง ด้วยความแตกต่างของระบบและการดูแลรักษาที่มีรายละเอียดมากน้อยแตกต่างกัน ย้อนกลับไปเมื่อ 15 ปีที่แล้ว คุณนิธิและครอบครัวได้ศึกษาหาข้อมูลโดยละเอียด ก่อนที่จะตัดสินใจเลือกระบบที่เหมาะสมกับการใช้งาน คุ้มค่าในการใช้จ่าย มากที่สุด
“บ้านหลังนี้ตัดสินใจเลือกระบบการควบคุมคุณภาพด้วยเกลือ เหตุผลสำคัญคืออุปกรณ์และวัตถุสารเคมีที่ใช้ในการดูแลรักษาสระจะถูกที่สุด ตัวสารเคมีที่ใช้ก็ไม่เป็นอันตรายต่อผิวหนังและดวงตา ถึงแม้รสชาติน้ำจะกร่อย พวกเราก็ตกลงกันว่าจะทนและยอมรับกันได้ ก่อนตัดสินใจครั้งสุดท้ายยังขอให้เซลส์แในที่ขายระบบสระว่ายน้ำพาไปว่ายน้ำในสระที่ใช้ระบบนี้ เมื่อลงไปว่ายแล้วก็ไม่เห็นความแตกต่างกับสระระบบอื่นากนัก โดยเฉพาะถ้าน้ำในสระไม่เข้าปากให้ได้ลิ้มรสชาติ จึงตัดสินใจเลือกได้ในที่สุด”
เมื่อเลือกระบบได้แล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการเลือกวัสดุผิวผนังและพื้นสระว่ายน้ำ ที่พิจารณาได้จากทั้งความคงทนของวัสดุ การดูแลรักษา ความสวยงาม รวมไปถึงความยากง่ายในการจัดหาวัสดุ ซึ่งก็เป็นอีกตัวแปรหนึ่งในเรื่องราคา
“ย้อนกลับไปเมื่อ 20-30 ปีที่ผ่านมา ผนังสระว่ายน้ำอาจบุด้วยกระเบื้องเคลือบหรือกระเบื้องโมเสก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวัสดุที่ผลิตในประเทศและราคาไม่แพง ถ้าจะให้ถูกกว่านั้นก็อาจเป็นผนังฉาบปูนธรรมดาและทาสีชนิดที่อยู่ในน้ำได้หรือฉาบด้วยซีเมนต์ขาว แต่ทั้ง 2 วิธีหลังนี้ก็ไม่ทนทาน ต้องซ่อมดูแลเมื่อผ่านไปสัก 2-3 ปี ในยุค 20 ปีหลังมานี้ มีวัสดุใหม่เรียกว่ากลาสโมเสก (glass mosaic) ซึ่งนำเข้ามาจากประเทศอิตาลี เป็นโมเสกที่ทำขึ้นจากกระจก มีสีให้เลือกมากมาย ราคาจะสูงกว่ากระเบื้องหรือโมเสกที่ผลิตในประเทศ 5-10 เท่า ด้วยเป็นวัสดุที่ผลิตขึ้นจากกระจก ตัวกระเบื้องจึงมีความใสแวววาวเมื่ออยู่ใต้น้ำ และเมื่อกระทบกับแสงแดดจะทำให้สีของน้ำดูสวยงามและมีชีวิตชีวา
เมื่อเรามาเลือกวัสดุบุผนังสระว่ายน้ำ กลาวโมเสกก็เป็นวัสดุชิ้นแรกๆ ที่เรานำมาพิจารณา แต่ด้วยวัสดุนี้ใช้กันมากในระยะหลัง ทั้งโครงการบ้านพักอาศัย โรงแรม และคอนโดมิเนียม จนกลายเป็นวัสดุชินตา ที่สำคัญสีสันของน้ำในสระก็ดูจัดจ้าน โดดเด่น ซึ่งขัดกับเจตนารมณ์ของพวกเราที่ต้องการให้สระว่ายน้ำดูนิ่งๆ เหมือนน้ำใสตามธรรมชาติ ไม่ข่มบ้าน ไม่ข่มสวน ในที่สุดเราก็ตัดสินใจเลือกกระเบื้องเซรามิกขนาด 0.60×0.60 สีเทา คล้ายสีคอนกรีตเปลือย โดยหวังว่าสีของน้ำในสระจะดูไม่เจิดจ้ามากเหมือนน้ำในลำธาร เหมือนน้ำในคลองที่สะอาดๆ ไม่เหมือนสีน้ำในท้องทะเล เมื่อคำนวณราคากันออกมาแล้ว ปรากฏว่าถูกกว่ากลาสโมเสก 2-3 เท่า ขอบสระเราเลือกเป็นหินทรายสีเดียวกับกระเบื้อง เพื่อไม่ให้ดูโดดเด่นมาก และกลมกลืนไปเข้ากับสนามหญ้า”
เมื่อสร้างเสร็จแล้ว “บ้านของเรา บ้านสถาปนิก” หลังนี้ จึงได้สระว่ายน้ำเคียงสนามหญ้า สีฟ้าของสระน้ำตัดกับสีเขียวของสนามหญ้า ทำให้บ้านดูมีชีวิตชีวาตามที่ตั้งใจไว้ แต่แล้วเมื่ออยู่บ้านนี้มาได้เข้าปีที่ 14 (พ.ศ. 2562) สระว่ายน้ำก็เกิดปัญหารั่วซึม จึงทำให้คุณนิธิต้องซ่อมแซมครั้งใหญ่และใช้เวลาหลายเดือน ถึงกับเรียกสระว่ายน้ำนี้ว่า “สระว่ายน้ำเจ้าปัญหา”
“บ้านไหนคิดจะมีสระว่ายน้ำก็ต้องเตรียมตัวเตรียมใจไว้ว่า เราจะดูแลรักษามันเหมือนลูกเหมือนหลานของเราคนหนึ่ง ที่ต้องใส่ใจ เสียเวลาและเสียค่าใช้จ่าย ค่าใช้จ่ายที่ว่านี้ก็คือค่าไฟฟ้า ค่าวัสดุอุปกรณ์ ค่าสารเคมีต่างๆ ที่ใช้ควบคุมคุณภาพน้ำ และที่สำคัญคือคนดูแลสระที่ต้องใช้เวลากับมันทุกวัน และที่สำคัญตัวสระน้ำก็ต้องสอดส่องตรวจสอบว่าโครงสร้างยังเป็นปกติ น้ำไม่รั่วซึม กระเบื้องที่ติดรอบผนังสระไม่ชำรุดหลุดร่วง หรือระบบดวงไฟในสระน้ำทำงานปกติ และยังจะต้องคอยตรวจเช็กห้องเครื่องกรองน้ำว่ายังทำงานปกติ การมีสระว่ายน้ำในบ้าน เรื่องจุกจิกเหล่านี้นับเป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจและใส่ใจ เป็นเจ้าของบ้านมีเงินอย่างเดียวก็ไม่ได้ เพราะปัญหาทุกเรื่องท้ายที่สุดก็ต้องกลับมาให้เจ้าของบ้านต้องปวดหัว ต้องแก้ปัญหาและท้ายที่สุดต้องเสียเงินเสียทอง
เมื่อตอนสร้างเมื่อ 15 ปีก่อน ผู้ติดตั้งระบบของสระว่ายน้ำแนะนำว่า ห้องเครื่องสระว่ายน้ำในยุคใหม่นี้จะวางตำแหน่งห่างจากตัวสระได้มากถึง 15-20 เมตร ไม่จำเป็นต้องวางห้องเครื่องติดกับสระ ผมเลือกตำแหน่งวางห้องเครื่องห่างจากสระไป 8-9 เมตร ช่างให้เหตุผลว่าในยุคใหม่นี้ ท่อน้ำเป็นแบบ flexible pipe คุณภาพสูงและเครื่องปั๊มน้ำก็มีคุณภาพดีกว่ายุคก่อนๆ มาก เมื่อตกลงกันตามนี้แล้ว สระว่ายน้ำของบ้านของเราก็ถูกสร้างตามนี้ เวลาผ่านไป 14 ปี เรื่องไม่คาดฝันเกิดขึ้นจากรากต้นไม้ ซึ่งมีอยู่มากมายใกล้ๆ สระและห้องเครื่อง รากต้นไม้เหล่านี้มีอิทธิพลอย่างมากที่ทำให้ระบบท่อที่เดินใต้ดินเสียหาย และเป็นอุปสรรคทำให้เกิดการรั่วซึมหลายจุด ซึ่งในที่สุดก็ต้องแก้ปัญหาด้วยการสร้างห้องเครื่องสระน้ำใหม่ให้อยู่ติดท้ายสระ และซ่อมแซมการรั่วซึมจนสำเร็จได้ใช้เวลาซ่อมแซมไปมากว่า 6 เดือน เมื่อซ่อมแซมเป็นเรื่องใหญ่ เลยถือโอกาสเปลี่ยนกระเบื้องบุสระใหม่ เป็นโมเสกแก้วที่ตอนสร้างบ้านในยุคแรกเราไม่ใช้โมเสกแก้วนี้ด้วยราคาแพง เปลี่ยนระบบดวงไฟใต้น้ำใหม่เป็นดวงไฟรุ่นใหม่ที่ใช้หลอด LED และเปลี่ยนหินขอบสระน้ำทั้งหมด เมื่อซ่อมเสร็จดูเหมือนได้สระน้ำใหม่อีกสระในบ้านของเรา”
สระว่ายน้ำปรับปรุงใหม่, 2562
หลังจากซ่อมแซมสระว่ายน้ำครั้งใหญ่แล้วเสร็จไปเป็นที่เรียบร้อย จนเหมือนกับได้สระว่ายน้ำใหม่ ที่ดูใหม่และแปลกตา ทั้งยังรับกับสถานการณ์ “ล็อกดาวน์” ด้วยวิกฤติโควิด-19 ในช่วงต้นมีนาคม พ.ศ. 2563 สมาชิกทุกคนในบ้านต้องอยู่ติดบ้านยาวนานหลายเดือน เป็นโอกาสที่ได้ใช้น้ำว่ายน้ำใหม่นี้ ทั้งว่ายน้ำออกกำลังกายและนั่งเล่นพักผ่อน แต่แล้วก็ผ่านไปไม่ทันจะครบปี สระว่ายน้ำนี้ก็มีเรื่องให้ต้องขบคิดอีกครั้ง จนถึงกับที่คุณนิธิเรียกว่า “สระว่ายน้ำเจ้าปัญหา”
“เมื่อเวลาผ่านไปได้เกือบปี จนถึงช่วงต้นปี พ.ศ. 2564 ยังไม่ทันผ่านพ้นเทศกาลเฉลิมฉลองปีใหม่ คนขับรถที่ช่วยดูแลสระว่ายน้ำมากระซิบว่า ช่วงไม่กี่วันมานี้พบว่าระดับน้ำในสระลดลงผิดสังเกตุ สงสัยว่าน้ำในสระจะรั่วซึมอีกครั้ง พวกเราได้ยินได้ฟังแล้วหัวใจแทบวาย ด้วยพวกเราเพิ่งผ่านช่วงเวลาอาศัยอยู่ในบ้านที่มีช่างเข้ามาซ่อมแซมสระว่ายน้ำนานกว่า 1 ปี ถ้าจะต้องเริ่มซ่อมแซมนับหนึ่งกันใหม่ คงเป็นช่วงเวลาที่อึดอัดลำบากใจสำหรับครอบครัวของเราอีกวาระหนึ่ง และคงเป็นเรื่องที่ต้องบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ของบ้านเราให้ต้องจดจำกันได้อีกนานๆ
กระบวนการต่างๆ ก็เริ่มนับหนึ่งกันใหม่จริงๆ เราเริ่มด้วยการโทรศัพท์ไปหาผู้รับเหมาเจ้าเดิมที่สร้างบ้านและซ่อมแซมบ้านเราที่ผ่านมา บอกเขาว่าเกิดอะไรขึ้นที่บ้านของเรา เมื่อผู้รับเหมาได้ยินที่เราพูด เสียงก็เงียบหายไปพักใหญ่และก็ด้วยสปิริตของการเป็นผู้รับเหมาชั้นดีและมืออาชีพ เขาพูดให้กำลังใจพวกเรากลับมาว่า “นายไม่ต้องกลุ้มใจนะครับ อะไรที่มันรั่วได้ มันก็ต้องอุดได้ครับ เดี๋ยวผมส่งทีมงานไปจัดการให้ทันทีครับ” พวกเราต้องนับหนึ่งใหม่กันอีกครั้ง ถ้าคิดว่ามันเป็นเรื่องสนุก เรื่องท้าทาย มันก็สนุกได้จริงๆ หรือถ้าจะคิดว่ามันเป็นเรื่องน่าเศร้า เราก็แทบจะหมดกำลังใจ”
แม้ว่าเรื่องสระว่ายน้ำนี้ยังคงอยู่ในระหว่างการขบคิดหาทางแก้ปัญหา แต่สิ่งหนึ่งที่คุณนิธิและครอบครัวตั้งใจไว้ นั่นคืออยากบอกเล่าถึงปัญหาและอุปสรรคต่างๆ จากกรณีตัวอย่างของบ้านที่ออกแบบเอง และอยู่อาศัยเองจริง เพื่อให้เป็นประโยชน์ เป็นความรู้ต่อผู้ที่สนใจอยากรู้ จากประสบการณ์ที่ได้เผชิญจริง และมีเรื่องเล่ามากมายไม่รู้จบ
“มีลูกค้าเจ้าของบ้านรายหนึ่ง เล่าให้เราฟังเป็นประสบการณ์และเป็นอุทาหรณ์สอนพวกเรา เรื่องเกี่ยวกับสระว่ายน้ำในบ้านไว้น่าฟังและน่าสนใจอย่างยิ่งดังนี้ เขาเล่าให้ฟังว่า เมื่อเขาสร้างบ้านหลังใหญ่เมื่อ 40 ปีก่อน บนเนื้อที่ 2 ไร่ แถวบางนา ถนนสุขุมวิท ในครั้งนั้นเขาทำบ้านหลังใหญ่และมีสระว่ายน้ำ ด้วยมีลูกถึง 4 คน เมื่อสร้างบ้านเสร็จใหม่ๆ ทุกคนในบ้าน รวมทั้งลูกๆ ซึ่งยังเล็กๆ ก็ได้ใช้กันเป็นกิจวัตร จนเวลาผ่านไปหลายปี ลูกๆ เติบโตเป็นผู้ใหญ่และมีโอกาสได้เดินทางไปเรียนหนังสือต่างประเทศกันทุกคน สระว่ายน้ำไม่มีใครใช้ เจ้าของบ้านฝ่ายชายก็มีอายุมากขึ้นและเกษียณจากการทำงาน ใช้ชีวิตอยู่กับบ้านทุกๆ วัน งานหลักของเจ้าของบ้านก็ใช้ชีวิตบั้นปลายดูแลต้นหมากรากไม้ในสวน และด้วยความจำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือ งานสั่งการและดูแลสระว่ายน้ำ (ที่ไม่มีคนใช้ว่ายน้ำนี้) อยู่ไปงานดูแลสระว่ายน้ำนี้ก็ดูเป็นงานหนักขึ้นเรื่อยๆ เพียงงานเก็บใบไม้ที่ตกลงในสระทุกๆ วัน ก็เป็นงานหนักสำหรับคนมีอายุไปแล้ว ถึงแม้จะมีเงินจ้างบริษัทดูแลสระว่ายน้ำมาบำรุงรักษาสระได้ แต่เขาก็ส่งคนมาทำความสะอาดเดือนละ 1-2 ครั้ง ที่เหลือก็เป็นหน้าที่ของคนในบ้านต้องดูแลทุกวัน สภาพสระว่ายน้ำจึงจะดูดีตลอดไป เจ้าของบ้านหลังนี้เล่าให้ฟังต่อว่า เมื่อลูกๆ เรียนสำเร็จการศึกษาในต่างประเทศ และกลับมาทำงาน ทุกคนปรึกษาหารืออยากย้ายเข้ามาอยู่ในเมือง เผอิญครอบครัวมีที่ดินอยู่แถบเมืองชั้นในแถวถนนสุขุมวิท เลยขอให้พ่อแม่สร้างอะพาร์ตเมนต์สำหรับทุกคน รวมทั้งให้คุณพ่อคุณแม่มาอยู่ด้วย โดยอยู่กันคนละชั้น เมื่อมาว่าจ้างให้พวกเราเป็นคนออกแบบ เรานำเสนอให้เป็นอาคารสูง 5-6 ชั้น และมีสระว่ายน้ำส่วนกลางสำหรับทุกครอบครัว ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่ขอมีสระว่ายน้ำในโปรเจ็กต์ใหม่ของพวกเขา โดยเฉพาะคุณพ่อบอกว่า ได้ตั้งปณิธานไว้แล้วว่า ในชีวิตนี้ไม่ขอมีสระว่ายน้ำส่วนตัวอีกแล้ว ถึงแม้ในช่วงเวลานี้ครอบครัวของเขาจะร่ำรวยกว่าสมัยก่อนมาก แต่ถึงจะมีเงินมากน้อยเพียงไร ภาระหน้าที่ที่ต้องขับเคี่ยวดูแลและแก้ไขปัญหาสระน้ำ ก็เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และในชีวิตนี้ไม่ขอเผชิญกับสภาพนี้อีกแล้ว
พวกเราทุกคนเห็นด้วยกับคำปรารภนี้เต็มที่ สำหรับบ้านของเรา… ก็กำลังจนปัญญาจริงๆ… เพราะไม่แน่ใจ… ตัดสินใจไม่ถูกว่า… จะลุยซ่อมต่อไป… หรือ… ทำเป็นบ่อเลี้ยงปลาคาร์ป หรือ… ถมดินให้เป็นสนามหญ้าไปให้หมด…”