Posted on

การจัดผังบริเวณวัดในล้านนา

วัดโดยทั่วไปแบ่งพื้นที่เป็น ๓ เขต ประกอบด้วย “เขตพุทธาวาส” เป็นเขตสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ประดิษฐานพระพุทธรูปและประกอบพิธีกรรมทางศาสนา มีสิ่งก่อสร้างหลักคือเจดีย์ (พระธาตุ) และวิหาร และบริเวณพื้นที่ว่างเป็นลานทราย นอกจากนั้น อาจมีอุโบสถ หอธรรมหอพระพุทธบาท หอระฆัง ศาลาบาตร ซึ่งอาจไม่มีครบทั้งหมดในแต่ละวัด เช่นบางวัดไม่จำเป็นต้องมีอุโบสถ เนื่องจากกลุ่มวัดในชุมชนล้านนาสมัยก่อน มักใช้อุโบสถร่วมกันในวัดใดวัดหนึ่ง เรียกว่า “หมวดอุโบสถ” ส่วน “เขตสังฆาวาส” เป็นเขตที่พำนักของพระสงฆ์ มีสิ่งก่อสร้าง คือ กุฏิ ห้องอาบน้ำ โรงเก็บอาหาร หอฉัน และศาลาการเปรียญ เป็นต้น ส่วน “เขตธรณีสงฆ์” เป็นอาณาเขตรอบวัด ได้มาจากการที่ฆราวาสกัลปนาที่ดินเพื่อเป็นประโยชน์แก่วัด แต่เดิมมักจะได้มาจากการกัลปนาโดยกษัตริย์

เขตพุทธาวาสตั้งอยู่ในตำแหน่งที่เข้าถึงเป็นลำดับแรกสุด ถัดมาเป็นเขตสังฆาวาสซึ่งอาจอยู่ด้านข้าง ด้านหลัง หรือโอบล้อมทั้งด้านข้างและด้านหลังของเขตพุทธาวาส ส่วนเขตธรณีสงฆ์จะมีทางเข้าด้านอื่นที่สามารถถึงได้ง่ายเช่นกัน การจัดวางตำแหน่งอาคารสำคัญในเขตพุทธาวาสของวัดในล้านนา ทั้งวัดหลวงและวัดราษฎร์ ส่วนใหญ่ยึดแนวแกนทิศตะวันออก – ตะวันตกเป็นแกนหลัก และวางแนวอาคารต่างๆ ตามยาวในทิศทางตามแนวแกนดังกล่าว

อาคารสำคัญคือวิหาร จัดวางตามแนวแกนนี้เป็นลำดับแรก หันหน้าไปทางทิศตะวันออกตรงกับประตูทางเข้าวัด ซึ่งมักทำเป็นซุ้มโขง ลำดับต่อมาเป็นเจดีย์ที่ตั้งอยู่ทางด้านหลังวิหาร แต่บางวัดอาจมีเพียงวิหาร โดยไม่มีเจดีย์ และอาจมีกำแพงหรือศาลาบาตรล้อมรอบเป็นขอบเขต ถัดจากเจดีย์อาจมีวิหารหรืออาคารอื่นตามแนวแกนนี้อีกหลังหนึ่ง หรือมีแนวแกนรองที่ขนานกับแกนหลักในด้านทิศเหนือหรือทิศใต้เพื่อจัดวางอาคารเพิ่มเติม

ช่วงยุคทองของล้านนามีการจัดผังบริเวณเขตพุทธาวาสของวัดหลวงตามแนวความคิด “จักรวาลคติ” คือ นอกจากมีแนวแกนหลักทางทิศตะวันออก – ตะวันตกแล้ว มักจะมีแกนทางทิศเหนือ – ใต้ ตัดตั้งฉากกับแกนหลัก โดยมีเจดีย์ตั้งอยู่ตรงจุดตัดของแนวแกน ให้จัดวางตำแหน่งวิหารได้ทั้ง ๔ ทิศ ล้อมรอบเจดีย์ตามทิศของแนวแกนทั้งสอง หรือจัดวางสิ่งก่อสร้างอื่นๆ อีก ในทิศเสริมระหว่างทิศหลักดังกล่าว

“จักรวาลคติ” ถือเป็นต้นแบบทางความคิดพุทธสัญลักษณ์ในล้านนาที่มีอิทธิพลต่อวรรณกรรม ศิลปกรรม สถาปัตยกรรมที่เกี่ยวกับพุทธศาสนา หมายถึง จักรวาลซึ่งแบ่งเป็นสามส่วนหลัก เรียกว่า “ไตรภูมิ” อันเป็นที่อยู่ (ภูมิ) ของสิ่งมีชีวิตในระดับต่างๆ ที่เวียนว่ายอยู่ในสังสารวัฏ ด้วยผลบุญและบาปของตน จนกว่าจะบรรลุถึงนิพพาน

การจัดผังบริเวณในเขตพุทธาวาส ที่ใช้แนวความคิดจักรวาลคติเป็นต้นแบบ สามารถเปรียบเทียบเพียงในมิติทางกายภาพที่มองเห็นได้อย่างสังเขปจากระดับพื้นดินและผิวน้ำของจักรวาลขึ้นไป คือแผนผังบริเวณและความสูงตามตั้ง ร่วมกับการกำหนดทิศที่ตั้ง โดยเน้นในบางองค์ประกอบทางภูมิศาสตร์ที่สำคัญเป็นหลัก เช่น ศูนย์กลางบริเวณเป็นที่ตั้งเจดีย์เปรียบเสมือน “เขาพระสุเมรุ” เป็นศูนย์กลางแห่งจักรวาล ล้อมรอบด้วยวิหารทั้ง ๔ ทิศ เปรียบเสมือน ๔ ทวีปรอบเขาพระสุเมรุ บริเวณลานทรายเปรียบเสมือน “สีทันดรสมุทร” ศาลาบาตรและกำแพงแก้วรอบเขตพุทธาวาส ปรียบเสมือนกำแพงจักรวาล วิหารขนาดใหญ่สุดหันไปทางประตูทางเข้าวัดด้านทิศตะวันออก มักตั้งชื่อว่าวิหารหลวง ส่วนวิหารสำคัญอีกหลังหนึ่งอยู่ทางด้านทิศใต้ อันเป็นตำแหน่งของ “ชมพูทวีป” ซึ่งเป็นแผ่นดินที่อุบัติของพระพุทธเจ้า บางวัดจึงตั้งชื่อว่าวิหารพระพุทธ

วัดพระธาตุลำปางหลวง จ.ลำปาง นับเป็นวัดที่มีการจัดผังบริเวณเขตพุทธาวาสตามแนวคิด “จักรวาลคติ” อย่างสมบูรณ์ที่สุด

ที่มา: หนังสือสถาปัตยกรรมล้านนา
isometric: คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร / อ.เกรียงไกร เกิดศิริ
ภาพถ่าย: วีระพล สิงห์น้อย