Posted on

เครื่องบนประดับอาคารเสนาสนะ

อาคารสำคัญต่างๆ ภายในวัด อาทิ วิหาร อุโบสถ หอธรรม ส่วนหนึ่งสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอาณาจักรล้านนาในยุคทอง หรือบางแห่งอาจเก่าถึงสมัยอาณาจักรหริภุญไชย ก็ล้วนแต่ได้รับการบูรณะภายหลังอีกหลายครั้ง เนื่องจากสร้างด้วยไม้เป็นวัสดุหลักจึงชำรุดทรุดโทรมไปเร็วกว่าอาคารก่ออิฐถือปูนที่สร้างใหม่ในสมัยหลัง อาคารสำคัญในวัดตามแบบอย่างพื้นเมืองล้านนาในยุคทองมีการประดับตกแต่งเป็นพิเศษในส่วนต่างๆ ของหลังคา และพื้นผิวขององค์ประกอบหลักภายในอาคาร เครื่องประดับหลังคาอาคารเสนาสนะ ช่วงยุคทองของอาณาจักรล้านนา หลังคาอาคารสำคัญในวัดประดับตกแต่งด้วยเครื่องบนตามแนวสันหลังคา เครื่องลำยอง แผงแล ปากแล ประดับปลายปั้นลมหลังคา หน้าบัน ที่มีการตกแต่งลวดลาย รวมถึงทวยนาคตันที่คํ้ายันชายคาตลอดแนวอาคารทั้งสองข้าง เครื่องประดับเหล่านี้ส่วนใหญ่ใช้ไม้แกะสลักลวดลายอย่างสวยงาม เครื่องประดับหลังคาอาคารเสนาสนะ ช่วงหลังยุคทองของอาณาจักรล้านนา เครื่องประดับตกแต่งหลังคาของอาคารเสนาสนะที่สืบทอดแบบอย่างพื้นเมืองล้านนาต่อมา ได้รับอิทธิพลจากทั้งศิลปะแหล่งต่างๆ อาทิ รัตนโกสินทร์ พม่า มอญ ไทยใหญ่ จีน หรือแม้กระทั่งตะวันตก เข้ามาผสมสานในรายละเอียด โดยเฉพาะลวดลายและเทคนิค รวมทั้งส่วนโก่งคิ้วใต้หน้าบัน ที่ตกแต่งให้โดดเด่นมากขึ้นด้วยรูปแบบและลวดลายที่หลากหลาย เครื่องบนประดับสันหลังคา ปราสาทเฟื้อง ส่วนประดับกลางสันหลังคา วิหาร และอุโบสถ เพื่อจำลองเขาพระสุเมรุตามคติจักรวาล มีรูปแบบและขนาดสัดส่วนต่างๆ กันตามแต่ฝีมือช่าง บางแห่งอาจมีรูปหงส์เต็มตัวขนาดเล็กเรียงกันตลอดแนวสันหลังคาด้วย ช่อฟ้า ส่วนประดับปลายสันหลังคา และเป็นส่วนยอดของเครื่องลำยองประดับปั้นลมหน้าจั่ว ช่อฟ้าแบบล้านนาดั้งเดิมมีลักษณะตั้งตรง โดยมีลวดลายไม้ฉลุในกรอบสามเหลี่ยมประกอบอยู่ให้มั่นคงกับสันหลังคาคล้ายปราสาทเฟื้องครึ่งซีก แต่หากไม่มีปราสาทเฟื้องและช่อฟ้ารูปแบบอื่น เช่น […]