
ในดินแดนล้านนาโบราณ มีการสร้างเจดีย์ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้ามาตั้งแต่สมัยอาณาจักรโยนก – หิรัญนครเงินยาง มีการสร้างพระธาตุเจดีย์อยู่บนดอยที่อยู่นอกเมือง ตั้งแต่สมัยเมืองนาคพันธุ์สิงหนุวัติ (โยนกนคร) แต่ปัจจุบันเหลือองค์เจดีย์เดิมที่สร้างสมัยนั้นน้อยมาก เนื่องจากมีสภาพปรักหักพังไปตามกาลเวลากลายเป็นโบราณสถาน และบางแห่งถูกสร้างเจดีย์ใหม่ครอบทับ ส่วนพระธาตุเจดีย์ที่สร้างขึ้นในสมัยเวียงปรึกษาและเมืองหิรัญนครเงินยาง ยังเหลือเป็นโบราณสถานบางแห่งในจังหวัดเชียงราย และเจดีย์พระบรมธาตุดอยตุงที่พญามังรายสร้างไว้ ภายหลังได้ถูกสร้างองค์ใหม่ครอบทับไปแล้วเช่นเดียวกัน เจดีย์ที่สร้างในสมัยอาณาจักรหริภุญไชย เป็นรูปแบบเจดีย์ทรงปราสาท ที่มีอิทธิพลต่อรูปแบบเจดีย์ในสมัยอาณาจักรล้านนาตอนต้น มีการสร้างพระธาตุเจดีย์อยู่ภายในเมือง และสร้างวัดขึ้นบริเวณที่มีพระธาตุเจดีย์ แต่พระธาตุเจดีย์ส่วนใหญ่ถูกสร้างองค์ใหม่ครอบทับในสมัยอาณาจักรล้านนาเป็นต้นมา มีเจดีย์สำคัญ ๓ รูปแบบ ในจังหวัดลำพูน ที่ยังคงรูปแบบเดิมโดยไม่ถูกสร้างครอบทับใหม่ที่สร้างในช่วงที่อาณาจักรหริภุญไชยเจริญรุ่งเรืองสูงสุด (พุทธศตวรรษที่ ๑๖ – ๑๘) และเป็นต้นแบบสำคัญให้แก่การสร้างเจดีย์ในสมัยล้านนาตอนต้น รูปแบบเจดีย์ในสมัยอาณาจักรล้านนาตอนต้น ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจากต้นแบบหลัก คือ รูปแบบเจดีย์ทรงปราสาทในสมัยอาณาจักรหริภุญไชย ผสมผสานกับอิทธิพลทางศิลปะจากภูมิภาคใกล้เคียง เช่น พุกามและสุโขทัย เจดีย์สมัยอาณาจักรหริภุญไชยในยุคที่เจริญสูงสุด (พุทธศตวรรษที่ ๑๖ – ๑๘) เป็นแบบอย่างให้กับเจดีย์ล้านนาตอนต้น ลักษณะเจดีย์ทรงปราสาท ผังของส่วนฐานและเรือนธาตุมีทั้งแบบสี่เหลี่ยมจัตุรัสและแปดเหลี่ยม เน้นจุดเด่นที่ส่วนเรือนธาตุซ้อนชั้นที่แต่ละด้านมี “ซุ้มจระนำ” ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้น ในสมัยล้านนาตอนต้น มีการผสมผสานวัฒนธรรมท้องถิ่นเข้ากับพุทธศาสนา มีรูปแบบที่ได้รับอิทธิพลจากอาณาจักรหริภุญไชยเป็นหลัก และยังปรากฏอิทธิพลศิลปะพุกามและสุโขทัยในบางส่วน เจดีย์ทรงปราสาทในยุคทองของอาณาจักรล้านนา มีความแตกต่างจากยุคล้านนาตอนต้น คือส่วนเรือนธาตุในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัสเพิ่มมุม […]