Posted on

หลองข้าว

ชาวล้านนาเรียกยุ้งข้าว ว่า “หลองข้าว” มีอยู่คู่ทุกเรือนพักอาศัยมาแต่โบราณ ในสังคมเกษตรกรรมทั้งหมู่บ้านชนบทและเมือง ในที่ราบลุ่มและบนภูเขา ทั้งในเรือนชาวบ้านทั่วไป คหบดี และเจ้า เช่นเดียวกับภูมิภาคใกล้เคียงในภาคอื่นๆ ของประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ไปถึงประเทศจีนและญี่ปุ่น เป็นต้น

“หลองข้าว” มักสร้างอยู่เยื้องมาทางด้านหน้าตัวเรือน เพื่อให้สะดวกในการขนย้ายข้าวเปลือกจากที่นา โดยมีขนาดใหญ่เล็กตามสถานะทางเศรษฐกิจ หรือปริมาณการถือครองที่นาของเจ้าของ หรือบางแห่งไม่กั้นฝาห้อง แต่ใช้ภาชนะไม้ไผ่สานทรงกระบอกขนาดกว้างประมาณ ๑ เมตร สูงประมาณ ๑.๕ เมตร ทาอุดผิวด้วยขี้วัว ขี้ควาย ผสมดินและน้ำ เรียกว่า “เสวียน” ส่วนก้นเสวียนสานเป็นตาโปร่งๆ

หลองข้าวพื้นเมืองล้านนา โดยทั่วไปจะเป็นอาคารยกเป็นใต้ถุนให้พื้นห่างจากดิน ตัวอาคารและหลังคามี ๒ รูปแบบใหญ่ๆ คือ แบบที่มีฝาอยู่ด้านในแนวเสาและอาจมีหลังคาทรงจั่วลาดลง ๒ ทางแบบทั่วไป และแบบซึ่งเป็นรูปแบบหลองข้าวที่มีเฉพาะในล้านนา ที่มีส่วนระเบียงซึ่งอาจปล่อยโล่งหรือกั้นฝาโดยรอบตัวอาคาร โดยยื่นป่องออกจากแนวเสา และมีหลังคาจั่วครอบบนชายคากันสาดยื่นคลุมทั้ง ๔ ด้านอีกชั้นหนึ่ง เป็นเอกลักษณ์อย่างชัดเจน

หลองข้าวแบบล้านนา รูปแบบเสารับหลองข้าว จัดวางเสา ๒ แนว มีจำนวนช่วงเสา ตั้งแต่ ๑ -๕ ช่วงเสา มักมีหน้าตัดกลมขนาดใหญ่ และหัวเสาเอียงสอบเข้าหากันในแต่ละด้านสูงขึ้นไปรับถึงโครงหลังคาจั่ว “แวง” (คาน) รับพื้นที่วางตามแนวขวาง และยื่นออกไปทั้ง ๒ ข้าง ก็มีขนาดไม้ใหญ่เป็นพิเศษเช่นเดียวกัน เป็นโครงสร้างที่เน้นความมั่นคงแข็งแรง หลังคาโดยทั่วไปเป็นทรงจั่วยื่นปั้นลม ซึ่งอาจจะประดับกาแลหรือไม่ก็ได้ มีชายคากันสาดโดยรอบอีกชั้นหนึ่ง หรืออาจมีเสาลอยรับปลายชายคา มุงหลังคาด้วยใบตองตึง หญ้าคา กระเบื้องดินขอ หรือกระเบื้องชนิดอื่นๆ ในยุคหลังหลองข้าวล้านนามีใต้ถุนสูง ซึ่งอาจสูงกว่าใต้ถุนเรือนพักอาศัย จึงโปร่งโล่ง เหมาะในการระบายความชื้นและป้องกันมอดปลวก และในสมัยโบราณยังป้องกันสัตว์ใหญ่ เช่น ช้าง ใต้ถุนเป็นที่จอดเกวียนและใช้เสาเป็นที่ผูกวัว ควาย

ตัวอาคารอยู่ภายในกรอบของแนวเสา แบ่งเป็น ๒ ห้อง ห้องใหญ่เป็นห้องหลักเรียกว่า “หลองข้าวหลวง” เก็บข้าวเปลือกไว้สำหรับขายและบริโภคทั้งปี ซึ่งในการนำข้าวเข้าเก็บหรือตักออกมาใช้จะต้องดูฤกษ์ยามวันที่เหมาะสม อีกห้องหนึ่งเป็นห้องเล็ก เรียกว่า “หลองข้าวม่อ” หรือ “หลองพราง” เป็นที่เก็บข้าวเปลือกจากหลองข้าวหลวงที่ตักออกในวันตามฤกษ์ยาม มาสำรองใส่ไว้บางส่วน สำหรับการใช้ยามฉุกเฉินโดยไม่จำเป็นต้องหาฤกษ์อีก

ฝาห้องตีผนังไม้ทึบทุกด้าน หรือตีระแนงไม้โปร่งตอนบน และมีเฉพาะช่องเปิดด้านหน้า มีวิธีการเปิดช่องให้ปีนเข้าออก ๒ รูปแบบ คือ แบบที่ทำร่องไว้ในกรอบ สำหรับเสียบไม้กระดานตามนอนซ้อนลงไปตามลำดับ โดยเขียนเลขกำกับไว้จากล่างขึ้นบน เพื่อวัดปริมาณข้าวภายในห้อง และแบบที่ใช้วัสดุแผ่นเรียบ เช่น แผ่นไม้กระดาน ไม้ไผ่สาน หรือแผ่นลอนสังกะสีในปัจจุบัน บริเวณหน้าช่องเปิดนี้จะแขวนแผ่นไม้ “ปักขะตึนผีกิ๋น” หรือปฏิทินฤกษ์ยามวันดีหรือร้ายในการนำข้าวเข้า – ออก เพื่อไม่ให้สิ้นเปลืองข้าว ตามความเชื่อว่าวันร้าย คือ ผีจะมาช่วยกิน ๑ ตัว ๒ ตัว หรือ ๓ ตัว ส่วนวันดีจะไม่มีผีมารบกวน

รอบห้องเก็บข้าวเปลือกทั้ง ๒ ห้อง จะยื่นพื้นออกไปนอกแนวเสาเป็นระเบียงทั้ง ๒ ด้าน เป็นที่วางอุปกรณ์การเก็บเกี่ยวและคัดเลือกและจัดเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวไว้สำหรับปีต่อไป ขอบระเบียงอาจเปิดโล่ง หรือมีผนังไม้โดยรอบอีกชั้น ทั้งแบบทึบหรือโปร่งเป็นระแนง หรือไม้ฉลุตกแต่งอย่างสวยงามได้อย่างอิสระ ไม่มีแบบแผนตายตัว การมีระเบียงที่มีชายคายื่นคลุมโดยรอบนี้ ช่วยกันฝนไม่ให้เข้าถึงห้องเก็บข้าวเปลือกได้อีกชั้นหนึ่ง และไม่ทำบันไดถาวรเพื่อป้องกันขโมย การขึ้นไปบนหลองต้องนำบันไดไม้ไผ่ เรียกว่า “เกิ๋น” ขึ้นพาดชั่วคราว
ปัจจุบันแม้ว่าความจำเป็นในการปลูกหลองข้าวไว้ใช้เองแต่ละบ้านเรือนลดน้อยลง แต่ยังมีหลองข้าวใช้อยู่ทั่วไปในหมู่บ้านเกษตรกรรมในชนบท ทั้งที่ราบลุ่มและบนภูเขา ส่วนในเมืองมีเพียงหลองข้าวโบราณที่อนุรักษ์กันไว้ในบางพื้นที่หรือในพิพิธภัณฑ์ นอกจากนี้ ยังมีความนิยมซื้อหลองข้าวเก่าของชาวบ้านมาปรับปรุงหรือสร้างอาคารเลียนแบบรูปทรงหลองข้าวล้านนาขึ้นใหม่ เพื่อประโยชน์ทางธุรกิจบริการ เช่น เป็นเรือนพักรับรอง รีสอร์ต หรือร้านอาหาร

ที่มา: หนังสือสถาปัตยกรรมล้านนา
ภาพลายเส้น: นิธิ สถาปิตานนท์
ภาพถ่าย: วีระพล สิงห์น้อย / รุ่งกิจ เจริญวัฒน์ / สถาปนิก 49